บ้านไม้ไผ่ รูปทรงโมเดิร์นตั้งอยู่ที่เกาะซานกริสโตบาล ส่วนหนึ่งของหมู่เกาะกาลาปากอส ในประเทศเอกวาดอร์ ก่อสร้างขึ้นโดยใช้ทรัพยากร พลังงาน แรงงาน และการขนส่งในพื้นที่ โดยพยายามให้เกิดความยั่งยืนและเป็นมิตรกับธรรมชาติมากที่สุด
Dany และ Jenny คู่สามีภรรยาเจ้าของ บ้านไม้ไผ่ ตั้งใจสร้างที่นี่ขึ้น หลังจากที่ทั้งคู่มีลูกคนแรก แล้วต้องการพื้นที่พักอาศัยที่กว้างขึ้น โดยได้รับคำปรึกษาจาก
ESEcolectivo ก่อนออกมาเป็นบ้านที่ใช้โครงสร้างไม้ไผ่ทั้งหลัง โดยใช้แรงงานและภูมิปัญญาท้องถิ่นภายใต้งบประมาณที่ไม่สูงนัก
เพื่อให้เข้ากันดีกับบริบททางธรรมชาติอันเปราะบางของหมู่เกาะกาลาปากอส บ้านทั้งหลังจึงต้องออกแบบให้สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุล ลดการใช้พลังงาน และพึ่งพาตนเองได้ เห็นได้จากการแบ่งพื้นที่รอบบ้านสำหรับทำแปลงปลูกผักใช้รับประทานในครอบครัว ขณะที่พื้นที่ใช้สอยภายในขนาด 120 ตารางเมตร สถาปนิกได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ชั้น ชั้นล่างประกอบด้วยส่วนห้องน้ำ ส่วนซักล้าง และห้องพักสำหรับผู้สูงอายุ แบ่งพื้นที่รอบแกนบันไดให้มีขนาดกว้าง เพื่อทำหน้าที่เป็นทางเดินไปขึ้นสู่ชั้นบนสุดมองเห็นวิวทะเลได้ ทั้งยังช่วยในการไหลเวียนอากาศทั่วทั้งบ้าน
ชั้น 2 มีห้องพัก 2 ห้อง คือ ห้องนอนใหญ่ และห้องเด็กเล่น เผื่อสำหรับในอนาคตเมื่อลูกเติบโตขึ้น เขาสามารถย้ายมาพักที่ห้องนี้ได้เพื่อความเป็นส่วนตัว ส่วนชั้น 3 มีห้องสตูดิโอขนาดเล็ก และจุดชมวิวที่สามารถทอดสายตาชมวิวทะเล และพระอาทิตย์ตกดินได้อย่างโรแมนติก
ด้านการตกแต่งเน้นเฟอร์นิเจอร์และส่วนต่าง ๆ ที่ทำจากไม้ไผ่และไม้สนที่หาได้ในท้องถิ่น พลังงานไฟฟ้าและน้ำที่ใช้ในบ้านได้รับความร้อนจากแผงโซลาร์เซลล์ ขณะที่น้ำเสียจะได้รับการบำบัดผ่านพืชกรองน้ำเสีย ก่อนนำน้ำนั้นมาใช้รดแปลงผัก หรือปล่อยน้ำเพื่อการชลประทานไปยังพื้นที่สีเขียวต่อไป แต่ทั้งนี้เพื่อความแข็งแรงของโครงสร้างและเอื้อต่อการพักอาศัยที่เหมาะสม ในส่วนหลังคามุงด้วยกระเบื้อง และฉนวนกันความร้อน ซึ่งนับเป็นเปอร์เซ็นต์ของวัสดุสมัยใหม่ที่น้อยกว่าสิ่งปลูกสร้างของเพื่อนบ้านรอบ ๆ ที่ส่วนใหญ่เน้นโลหะและคอนกรีต
ด้วยดีไซน์ที่โดดเด่น และตอบโจทย์การอยู่อาศัย เหนืออื่นใดสิ่งสำคัญที่สถาปนิกจาก ESEcolectivo คำนึงถึงคือสภาพระบบนิเวศของกาลาปากอส การใช้วัสดุธรรมชาติ และพลังงานสะอาด อย่างที่บ้านหลังนี้เน้นนำมาใช้ ถือเป็นตัวอย่างของการสร้างที่พักอาศัยอย่างยั่งยืน หากเป็นไปได้ก็หวังอยากให้ชาวบ้านในกาลาปากอส หรือแม้แต่ชุมชนที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติหลาย ๆ แห่ง ช่วยกันปรับตัวให้เข้ากับบริบท รบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด และถ่อมตัวให้มากที่สุด เพื่อให้มนุษย์กับธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างพึ่งพา
ภาพ : José de la Torre
เรียบเรียง : Phattaraphon