ศูนย์การค้า และ หอศิลป์ สองสิ่งที่อยู่ร่วมกันได้ใน Simple World - room

ศูนย์การค้า และ หอศิลป์ สองสิ่งที่อยู่ร่วมกันได้ใน Simple World

ศูนย์การค้า กับ หอศิลป์ จำเป็นไหมที่ต้องอยู่แยกกัน? ทำอย่างไรให้เดินคู่ไปด้วยกันได้ เพื่อเป็นพื้นที่แห่งแรงบันดาลใจและจำหน่ายสินค้าไปพร้อมกัน

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: HAS design and research

room พาไปดูศูนย์การค้าเฟอร์นิเจอร์ “Simple World” ในเมืองเหอเฝย สาธารณรัฐประชาชนจีน ออกแบบโดย Jenchieh Hung + Kulthida Songkittipakdee / HAS design and research ตีความสถาปัตยกรรมจากศิลปะวัฒนธรรมและธรรมชาติที่พบได้รอบๆ เมือง ก่อนนำมาผสานกับการพัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์ จนได้ผลลัพธ์เป็นพื้นที่การค้าที่สร้างสรรค์กว่าการเป็นพื้นที่สร้างกำไรเพียงอย่างเดียว

หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวการถกเถียงกันเกี่ยวกับการพัฒนาเมือง เช่น ในเมืองแทนที่จะสร้างศูนย์การค้าเพิ่ม ควรมีหอศิลป์ เยอะ ๆ แต่ในอีกมุมการเจริญเติบโตของเมืองทำให้ที่ดินมีราคาพุ่งสูงขึ้น จนต้องใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วเพื่อหารายได้ บางครั้งแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะได้เห็น หอศิลป์ หรือพิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นในพื้นที่เมือง หรืออีกทางหนึ่งย่านเมืองเก่าก็มักตกเป็นเป้าหมายของการรื้อทำลาย เพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ จนหลายครั้งทำให้อัตลักษณ์ของเมืองสูญหายไป พร้อมๆ กับศิลปะวัฒนธรรมที่มีอยู่ก็ค่อยๆ ถูกลืมไป

เหอเฝยเป็นหนึ่งในเมืองที่กำลังเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยมีการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์จากต่างประเทศเป็นจำนวนมากและมีศูนย์กลางการจัดแสดงสินค้าขนาดใหญ่ดึงดูดผู้คนให้เข้ามา บรรยากาศของเมืองจึงเป็นทั้งเมืองเก่าและเมืองใหม่ อีกทั้งยังมีพื้นที่ธรรมชาติใกล้ๆ อยู่ร่วมกัน อันเป็นบริบทที่มีเอกลักษณ์ควรค่าแก่การนำมาพัฒนาให้ถูกทาง ก่อนที่การพัฒนาเศรษฐกิจจะเข้ามาทำลายโซนเมืองเก่าและธรรมชาติให้หายไป

เจอร์รี่ หง (Jenchieh Hung) และ กุลธิดา ทรงกิตติภักดี จาก HAS design and research ได้รับมอบหมายให้ออกแบบโครงการสถาปัตยกรรม 5 โปรเจ็กต์ภายในอาคารจัดแสดงสินค้าขนาดใหญ่อาคารเดียวกัน โดยเป็นอาคารที่ตั้งอยู่บริเวณขอบระหว่างเขตเมืองเก่ากับเมืองใหม่ พร้อมกันนั้นยังมีพื้นที่ของธรรมชาติอยู่ไม่ไกล ทีมผู้ออกแบบจึงตั้งใจให้ที่นี้เป็นโครงการตัวอย่างรวบรวมทั้งพิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ และโชว์รูมแสดงสินค้า ภายใต้ภาษาทางสถาปัตยกรรมที่จะเชื่อมโยงศิลปะวัฒนธรรมและธรรมชาติ รวมไปถึงมรดกทางวัฒนธรรมที่เก่าแก่ ผ่านพื้นที่ศูนย์การค้าที่เป็นเสมือนตัวกลางช่วยสานต่อและผสานเรื่องราวทางวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน


ใช้สถาปัตยกรรมช่วยนำทาง
โครงการ Simple World ประกอบไปด้วย

  • Simple Art Museum – พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย
  • Simple Design Archive – พิพิธภัณฑ์เชิงผสมผสานที่รวบรวมงานศิลปะร่วมสมัยของเอเชียและเฟอร์นิเจอร์สไตล์นอร์ดิกสมัยใหม่
  • Simple Living Passage – โชว์รูมเฟอร์นิเจอร์กึ่งแกลเลอรี่
  • Simple Craft Collection – พิพิธภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์และโชว์รูมของแบรนด์ Ligne Roset จากประเทศฝรั่งเศส
  • Simple Cuisine Gallery – พิพิธภัณฑ์ครัวและโชว์รูม Flagship ของ Veneta Cucine แบรนด์ครัวจากประเทศอิตาลี

Simple Art Museum – พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย

Simple Design Archive – พิพิธภัณฑ์เชิงผสมผสานที่รวบรวมงานศิลปะร่วมสมัยของเอเชียและเฟอร์นิเจอร์สไตล์นอร์ดิกสมัยใหม่

Simple Living Passage – โชว์รูมเฟอร์นิเจอร์กึ่งแกลเลอรี่

Simple Cuisine Gallery – พิพิธภัณฑ์ครัวและโชว์รูม Flagship ของ Veneta Cucine แบรนด์ครัวจากประเทศอิตาลี

Simple Cuisine Gallery – พิพิธภัณฑ์ครัวและโชว์รูม Flagship ของ Veneta Cucine แบรนด์ครัวจากประเทศอิตาลี

โครงการนี้ตั้งอยู่บริเวณขอบของเมืองเก่า ที่มาเชื่อมต่อกับโซนเมืองใหม่ และไม่ไกลกันก็ยังมีพื้นที่ธรรมชาติ ออกแบบด้วยการผสานสถาปัตยกรรมแบบอานฮุยดั้งเดิมเข้ากับการออกแบบร่วมสมัย โดยไม่ละทิ้งรากเหง้าของท้องถิ่น ไม่ใช่เพียงการเลียนแบบอาคารเก่า แต่เป็นการตีความใหม่เพื่อให้เกิดบทสนทนาระหว่างยุคสมัย โดยใช้เทคนิควิธีการนำเส้นสาย และรูปทรงจากอาคารโบราณมาออกแบบใหม่ เป็นเส้นขอบอาคาร เช่น บริเวณหลังคาลอนหยักของ Simple Art Museum ที่อ้างอิงไปยังบ้านเรือนโบราณของอานฮุย ที่ใช้ไม้มาต่อและขัดกันจนเป็นโครงสร้างหลังคา สำหรับลอนหยักใหม่ ใช้เส้นสายและวัสดุเรียบทำสีขาว ลดทอนความซับซ้อนของรูปทรงโบราณออกมาในมิติใหม่ สร้างความแปลกตา ดูน่าดึงดูดตั้งแต่แรกเห็นอาคาร และแฝงกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมโบราณอย่างกลมกลืน

ที่มาและแนวคิดโครงการ
Simple World มีที่มาและแนวคิดจาก HAS design and research ซึ่งได้รับมอบหมายให้ออกแบบ 5 โครงการภายในพื้นที่จัดแสดงสินค้าขนาดใหญ่ในเมืองเหอเฝย มณฑลอานฮุย ประเทศจีน เหอเฝยเป็นเมืองที่กำลังเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็ว เมืองนี้มีการนำเข้า เฟอร์นิเจอร์จากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และมีศูนย์กลางการจัดแสดงสินค้าระดับใหญ่ ซึ่งบริบทของเมือง มีทั้งเมืองเก่า เมืองใหม่ และพื้นที่ธรรมชาติ ที่อยู่ร่วมกัน


โครงการทั้งหมดตั้งอยู่ในอาคารห้างสรรพสินค้าที่มีลักษณะโครงสร้างแบบโกดัง สำหรับแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์และดีไซน์ มีโครงสร้างของอาคารเดิมหลายอย่างที่สถาปนิกต้องจัดการให้อยู่ร่วมกันกับดีไซน์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็น เสา คาน โครงสร้างเหล็กที่ตั้งอยู่กลางอาคาร

การวางผัง
การวางผังของโครงการ Simple World สถาปนิกออกแบบให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่าง 5 พื้นที่ ที่ตั้งอยู่ภายในอาคารขนาดใหญ่คล้ายโกดัง บางส่วนสร้างขึ้นใหม่ บางส่วนออกแบบให้แทรกตัวเข้าไปในโครงสร้างเดิม แต่ละอาคารวางตำแหน่งการกระจายกันอยู่ในอาคาร และออกแบบทางสัญจรให้เชื่อมหากัน Simple Art Museum ตั้งอยู่ด้านหน้าสุด เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางการเดินของ มีพื้นที่ที่เปิดออกสู่ภายนอก ให้คนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องเดินเข้าอาคาร

Simple Design Archive อยู่ติดกับ Simple Art Museum เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เน้นสะสมงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ร่วมสมัย มีสวน Echo Chamber Courtyard ด้านหน้าอาคาร ซึ่งเป็นพื้นที่กึ่งปิดที่ช่วยตัดเสียงรบกวนจากภายนอก

Simple Living Passage ตั้งอยู่ตรงกลางของพื้นที่ทั้งหมด เป็นโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบให้มีเส้นทางเดินผ่าตรงกลางโครงการ เชื่อมผู้ใช้งานจากโซนพิพิธภัณฑ์ศิลปะด้านหน้าเข้าสู่โซนขายเฟอร์นิเจอร์ที่อยู่ด้านในได้แก่ Simple Cuisine Gallery และ Simple Craft Collection

แนวคิดของแต่ละโซน

แต่ละโซนของ Simple World ล้วนมีที่มาจากบริบทแวดล้อมที่อยู่ในเมืองทั้งอาคารโบราณ และธรรมชาติ

Simple Art Museum คือ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยในเหอเฝย ที่ตีความสถาปัตยกรรมแบบฮุยโบราณ ให้กลมกลืนกับบริบทเมืองใหม่ และธรรมชาติ ตัวอาคารอยู่ด้านหน้าสุดติดกับที่จอดรถด้านนอก จึงออกแบบเป็นผนังทึบสร้างสเปซแบบปิดล้อมใหม่ขึ้นภายใน และช่องหน้าต่างเล็ก ๆ ให้สามารถมองเห็นด้านในและให้แสงธรรมชาติลอดผ่านเข้ามาได้

อาคารนี้ออกแบบโดยใช้แนวคิดการสะท้อนอดีตและปัจจุบัน ผ่านรูปทรงอาคารที่ลดทอนมาจากสถาปัตยกรรมโบราณ สร้างประสบการณ์ใหม่ให้ผู้ใช้งานค่อยๆ ซึบซับงานศิลปะและพื้นที่ ผ่านแสง เงา ผังที่ออกแบบมาให้แต่ละห้องเป็นลักษณะวงรี ให้ผู้ชมงานรู้สึกว่าอยู่ในสเปซหลวม ๆ ของตนเอง ก่อนสัญจรต่อไปยังห้องถัดไป ฝ้าลอนหยักออกแบบให้เชื่อมกันระหว่างภายนอก และภายใน ให้รับรู้ได้ถึงแกนหลักของตัวอาคารที่พบเจอได้ทุกห้อง ภายในออกแบบให้โปร่งใช้ผนังสีขาวที่มีพื้นผิวหยาบเบา ๆ ให้ผู้ชมงานรับรู้ถึงความสงบ เต็มอิ่มกับงานศิลปะที่หมุนเวียนมาจัดแสดง และยังมีโซนคาฟ่ให้ผ่อนคลายขณะชมงาน


Simple Design Archive คือ พิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมงานศิลปะร่วมสมัยเอเชีย และเฟอร์นิเจอร์ยุโรปเหนือ ออกแบบให้เป็นสถานที่ศิลปะที่สร้างความสงบและเชื่อมโยงกับธรรมชาติ สถาปนิกสร้างพื้นที่แห่งการ “หลีกหนีจากเมือง” ให้ผู้ใช้งานสัมผัสได้ถึงความสงบ ผ่อนคลาย และดื่มด่ำกับศิลปะ เปิดรับประสบการณ์จากเสียงและธรรมชาติ ผ่าน “Echo Chamber Courtyard” สวนด้านหน้าอาคาร ที่ดึงเสียงนกร้องและลมธรรมชาติเข้ามา เส้นโค้งที่ใช้ใน Simple Design Archive ได้แรงบันดาลใจมาจากหินและภูมิทัศน์ธรรมชาติในเมืองเหอเฝย ผนังโค้งโอบล้อมคล้ายโพรงหิน สร้างความรู้สึกสงบ เส้นโค้งถูกใช้งานต่อเนื่องเข้ามาเป็นผนังภายในอาคาร ให้สเปซมีความต่อเนื่องกัน

Simple Living Passage คือ โชว์รูมเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ Tucson ที่ออกแบบให้เป็นเหมือนแกลเลอรี่ ผ่านแนวคิด “ป่าแห่งการใช้ชีวิต” (Forest-Like Living Experience) เป็นเหมือนบ้านที่ตั้งอยู่กลางป่า ภายในแบ่งเป็นห้องต่างๆ ภายในบ้าน แล้วรายล้อมด้วยรูปทรงของต้นไม้ในป่าอยู่รอบตัวโชว์รูม ความพิเศษของโชว์รูมนี้คือ ออกแบบทางเดินผ่ากลางร้านตรงตามชื่อที่มีคำว่า “Passage” ที่แปลว่า ทางเดิน สถาปนิกตั้งใจให้เป็นเส้นทางเชื่อมพื้นที่ส่วนหน้ากับส่วนที่อยู่ลึกเข้าไปด้านใน ซึ่งปกติโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์มักออกแบบเป็นแบบเปิดโล่ง แต่สำหรับร้านนี้ตั้งใจให้ผู้ใช้งานค่อย ๆ ค้นพบแต่ละห้อง คล้ายกับการเดินชมงานศิลปะ

Simple Cuisine Gallery คือ โชว์รูมครัวของแบรนด์ Veneta Cucine จากประเทศอิตาลี ที่ออกแบบให้เป็น “สถาปัตยกรรมแห่งสายน้ำ” เชื่อมโยงประสบการณ์การใช้ครัวเข้ากับธรรมชาติ และความเงียบสงบ ได้แรงบันดาลใจจากน้ำตกและกระแสน้ำ ออกแบบผนังร้านให้เป็นชั้นซ้อนกันเหมือนสายน้ำตก ตำแหน่งร้านใกล้กับบันไดเลื่อนของห้างทำให้มีคนสัญจรผ่านจำนวนมาก สถาปนิกตั้งใจปิดล้อมรอบร้านให้คนเกิดความสงสัยแล้วเดินเข้าไปด้านในแทนการใช้กระจกใสแบบที่ร้านทั่วไปนิยมใช้กัน เมื่อเดินเข้าไปภายในร้านจะพบกับทางเดินที่แยกไปยังห้องต่าง ๆ ที่มีชุดครัวของแบรนด์เซ็ตไว้ เป็นการสร้างประสบการณ์ที่คนจะได้ดื่มด่ำ และพบเจอไปทีละห้องแทนการมองเห็นทั่วร้านตั้งแต่แรก

Simple Craft Collection คือ โชว์รูมแบรนด์ Ligne Roset เป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์หรูจากฝรั่งเศส ออกแบบสะท้อนรูปทรงของน้ำแข็งในฤดูหนาวของอานฮุย ออกแบบให้มีความแข็งแกร่งเหมือนน้ำแข็งที่ก่อตัว และกำลังจะละลาย สร้างประสบการณ์เหมือนกับเดินเข้าไปในธารน้ำแข็ง ด้วยการทำเป็นรูปทรงหยักและมีรอยแตกให้แสงลอดเข้ามาในร้าน สร้างวงล้อมและวางชุดเฟอร์นิเจอร์อยู่ในแต่ละวงที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กใหญ่ต่างกัน เมื่อเข้ามาในวงของห้องและสัมผัสกับแสงที่ลอดผ่านรอยแตกของน้ำแข็ง จะรู้สึกได้ถึงความสงบที่เหมือนได้หลีกหนีจากความวุ่นวายของเมือง และสัมผัสกับชุดเฟอร์นิเจอร์ของแบรนด์ได้อย่างเต็มอารมณ์ราวกับหลุดไปอยู่ในอีกดินแดนหนึ่ง ตรงกับคอนเซ็ปต์ของโครงการ และชื่อ “Simple World” โลกอันเรียบง่าย เป็นดั่งโลกที่สร้างขึ้นมาใหม่อยู่ในศูนย์การค้าแห่งนี้


กระบวนการออกแบบ
โครงการ Simple World ออกแบบโดยยึดหลัก การเชื่อมโยงธรรมชาติ วัฒนธรรม และประสบการณ์ผู้ใช้งาน ผ่านกระบวนการที่เริ่มจากการ ศึกษาบริบทของเมืองเหอเฝย ซึ่งมีทั้งเมืองเก่า ธรรมชาติ และพื้นที่พัฒนาใหม่ ทีมออกแบบนำองค์ประกอบเหล่านี้มาตีความเป็นแนวคิดหลักของแต่ละโปรเจกต์ เช่น น้ำตก น้ำแข็ง ป่า และหิน เพื่อสร้างพื้นที่ที่มีความหมายและอ้างอิงกับสภาพแวดล้อม


หลังจากพัฒนาแนวคิด สถาปนิกออกแบบรูปแบบสถาปัตยกรรมให้ลื่นไหลและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งาน ผ่านเส้นโค้ง ช่องเปิด และการจัดวางพื้นที่ที่กระตุ้นประสาทสัมผัส ด้วยการศึกษาจากข้อมูลของตัวอาคารนำไปสู่แบบร่างนับร้อย นอกจากนี้ยังมีการเลือกวัสดุที่ช่วยเสริมบรรยากาศ เช่น วัสดุ พื้นผิว สีทาผนังโทนสว่าง แสงไฟ และการออกแบบแสงธรรมชาติ ให้เกิดมิติและความลึกของพื้นที่ จนกลายเป็นโครงการที่สร้างความแปลกใหม่ ทั้งรูปทรงและฟังก์ชัน ขณะเดียวกันก็ยังอิงกับสิ่งใกล้ตัว เช่น เส้นสายจากธรรมชาติ ทรงเรขาคณิต ทำให้รู้สึกเข้าถึงได้ และไม่แปลกแยก


จากการออกแบบที่ค่อนข้างท้าทายรูปแบบปกติของร้านค้าโดยทั่วไป ที่มักจะเน้นพื้นที่ขายเป็นหลัก ให้เห็นผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน แต่สำหรับโครงการ Simple World มีท่าทีที่ต่างออกไป ตั้งแต่การเลือกวางโปรแกรมการใช้งานให้มีพิพิธภัณฑ์ และแกลเลอรี่ในส่วนแรก ก่อนเชื่อมเข้ามาสู่พื้นที่ขายด้านใน กลายเป็นว่าผลตอบรับออกมาค่อนข้างดี เป็นสถานที่ที่คนเมืองเหอเฝยนิยมมาใช้งาน ซึ่งสเปซสำหรับงานศิลปะนั้นเป็นเหมือนจุดดึงดูด และมีคาเฟ่เล็กๆ เป็นพื้นที่ให้คนได้มาผ่อนคลายก่อน แล้วค่อยๆ เข้ามาสัมผัสกับผลิตภัณฑ์คือ เฟอร์นิเจอร์ พื้นที่เช่นนี้เชื่อมโยงกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ที่มองหาสถานที่สำหรับพักผ่อนในวันว่าง การออกแบบ “หอศิลป์” และ “มิวเซียม” ให้แทรกเข้าไปในโครงการประเภทพาณิชย์ ก็มีส่วนช่วยส่งเสริมการขาย ให้ผู้คนเข้ามาที่ศูนย์การค้ามากขึ้น เป็นพื้นที่อัปเดตไอเดีย และแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ในขณะเดียวกันการที่พื้นที่ขายอยู่ร่วมกับ หอศิลป์ หรือมิวเซียม ก็ช่วยให้พื้นที่ลักษณะนี้มีความยั่งยืน มีรายได้สำหรับการบริหารจัดการระยะยาว อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งสามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงและสนใจประสบการณ์ที่ลึกซึ้งกว่าการท่องเที่ยวเชิงพักผ่อนทั่วไป อาจมีการจัดกิจกรรม การรวมกลุ่มกันของคนรักศิลปะ สร้างเป็นสังคมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งผลดีจะย้อนกลับมายังธุรกิจที่เน้นในเรื่องสุนทรียภาพอย่างการขายเฟอร์นิเจอร์ หรือหากเป็นธุรกิจประเภทอื่นที่กลุ่มลูกค้าให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ก็สามารถทำได้เช่นกัน

ออกแบบ: HAS design and research
ภาพ: W Workspace, Fangfang Tian, Soopakorn Srisakul
เรื่อง: Natthawat Klaysuban

อ่านบทความอื่น ๆ Has Design and research ได้ที่
HAS design and research สตูดิโอสัญชาติไทย-จีนที่ใช้งานรีเสิร์ชนำทาง

รับชมวิดีโอ Studio visit เยือนโฮมสตูดิโอ HAS design and research สำนักงานออกแบบสองสัญชาติไทย-จีน ในย่านที่อยู่อาศัยของถนนเพชรเกษม ได้ที่

HAS design and research – room