French Kitsch Cafe' ถอดรูปทรงครัวซองต์ สู่คาเฟ่โคราชคอนกรีตดิบกร้าว

French Kitsch Cafe’ถอดรูปทรงครัวซองต์ สู่คาเฟ่โคราช ดิบกร้าวด้วยสถาปัตยกรรมคอนกรีต

French Kitsch Cafe’ สาขา City Link แห่งนี้ คือสาขาที่ 3 ของคาเฟ่ขึ้นชื่อเรื่องขนมอบ ก่อร่างขึ้นจากคอนกรีตหล่อในที่ เด่นด้วยผนังปูนโค้งแปลกตาตัดกับรูปปั้นเฟรนช์บูลด็อกสีชมพูสด

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: TOUCH Architect

ท่ามกลางยุคสมัยที่หันมองไปทางไหนก็เจอคาเฟ่ ผู้คนไม่ได้มองหาเพียงกาแฟดี ขนมอร่อย แต่ยังมองหา “ประสบการณ์” และความพึงพอใจเกินกว่าเพียงรสชาติ แต่ต้องรู้สึกได้ผ่านทุกประสาทสัมผัส French Kitsch Cafe’ Project และ TOUCH Architect เลือกตอบโจทย์นี้ ด้วยสถาปัตกรรมที่ดึงดูดผู้คนทุกเพศทุกวัยให้เข้ามาสัมผัส ภายใต้แนวคิด “Perfection of Imperfection”

รูปทรงของขนมที่ดูม้วนยาว จึงถูกนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการดีไซน์ตัวอาคารของคาเฟ่ได้อย่างแปลกตา
ตีความคำว่า “French” เป็นความคลาสสิกของสถาปัตยกรรมโบราณ ซึ่งมีสัญลักษณ์อย่างซุ้มโค้ง (Arch)

แนวคิดการออกแบบที่ไม่มีโจทย์แต่มีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง

จุดเริ่มต้นของการออกแบบร้านสาขาที่ 3 มาจากโจทย์ที่ค่อนข้างเปิดกว้างจากเจ้าของร้าน สถาปนิกจึงเลือกหยิบใช้แบรนดิ้งที่แข็งแกร่งมาตีความจากชื่อร้าน French Kitsch และจุดแข็งด้านการทำขนมอบ (French Patisserie) ที่มีชื่อเสียง โดยตีความคำว่า “French” เป็นความคลาสสิกของสถาปัตยกรรมโบราณ ซึ่งมีสัญลักษณ์อย่างซุ้มโค้ง (Arch) และตีความคำว่า “Kitsch” ไปถึงความสมบูรณ์แบบในความไม่สมบูรณ์แบบ เมื่อนำมาประกอบกับภาพตัดของขนมครัวซองต์ที่มีเส้นโค้งอันไม่สมบูรณ์แบบ และรูปทรงของขนมที่ดูม้วนยาว จึงถูกนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการดีไซน์ตัวอาคารของคาเฟ่ได้อย่างแปลกตา

วางเคาน์เตอร์และตู้ขนมความยาวอย่างต่ำ 12 เมตร ทำให้สถาปนิกตัดสินใจวางเลย์เอาต์เพื่อสร้างฟังก์ชันแบบ Linear ในอาคารปิดทึบ แล้วดันที่นั่งให้มาอยู่ภายในร้านทั้งหมด

การออกแบบที่ต่อสู้กับความเอ็กซ์ตรีมของสภาพอากาศ

จากทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่เปิดโล่งบริเวณหัวมุมของโครงการ City Link จังหวัดนครราชสีมา จึงช่วยให้มองเห็นและเข้าถึงร้านได้สะดวก แต่ขณะเดียวกันกลับต้องแลกมากับปัญหาต่าง ๆ อย่างการรับแดดจัด และฝุ่นที่พัดมาจากถนน โดยไม่มีอาคาร มาช่วยบัง ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดทางสภาพอากาศทำให้ลูกค้าไม่นิยมออกมานั่งนอกร้านมากนัก

นำมาสู่วิธีการออกแบบเพื่อรับมือกับปัญหานี้ ด้วยการเน้นออกแบบพื้นที่ภายในให้เอื้อต่อพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้ามากที่สุด ประกอบกับ Requirement ของเจ้าของร้านที่อยากวางเคาน์เตอร์และตู้ขนมความยาวอย่างต่ำ 12 เมตร ทำให้สถาปนิกตัดสินใจวางเลย์เอาต์เพื่อสร้างฟังก์ชันแบบ Linear ในอาคารปิดทึบ แล้วดันที่นั่งให้มาอยู่ภายในร้านทั้งหมด เพื่อสร้างการใช้งานพื้นที่ของร้านให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งยังมีการสร้างฟังก์ชันที่เรียกว่า Shading Device โดยดึงเส้นโค้งบางส่วนออกมาเป็นฟาซาดแสดงให้เห็นจากภายนอกเพื่อป้องกันฝุ่นและแสงแดดให้แก่พื้นที่นั่งด้านในร้าน กลายเป็นดีไซน์ที่มองเห็นได้อย่างโดดเด่นจากทุกมุมมอง และยังช่วยสะท้อนตัวตนของแบรนด์ที่จดจำง่ายผ่านสถาปัตยกรรมที่รูปลักษณ์ไม่เหมือนใคร

ตีความคำว่า “Kitsch” ไปถึงความสมบูรณ์แบบในความไม่สมบูรณ์แบบ เมื่อนำมาประกอบกับภาพตัดของขนมครัวซองต์ที่มีเส้นโค้งอันไม่สมบูรณ์แบบ

จากรูปทรงสู่เส้นโค้งสื่อสารอารมณ์

เส้นโค้งต่าง ๆ ที่สัมผัสได้ภายในโครงการได้มาจากเส้นโค้งในภาพตัดครัวซองต์ 4 รูปแบบ ที่ใช้สร้างมิติและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ประกอบด้วย

Curve A: เส้นโค้งบริเวณเคาน์เตอร์บาร์ขนาดยาว 12 เมตร และพื้นที่แบบ Double Volume ที่ไล่โค้งนี้ต่อเนื่องขึ้นไปถึงชั้นบน ซึ่งสร้างมุมมองให้เห็นเคาน์เตอร์และตู้ขนมได้ทั่วทุกมุมของร้าน
Curve B: เส้นโค้งหงายใช้เป็นส่วนหนึ่งของฟาซาด ทำหน้าที่ในการป้องกันฝุ่นและแสงแดด ขณะเดียวกันก็สร้างรูปทรงอาคารให้ดูแปลกใหม่และโดดเด่น ช่วยดึงดูดสายตาผู้คน ส่งเสริมข้อดีของไซต์ที่อยู่แปลงหัวมุมให้เป็นที่สะดุดตาของผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา
Curves C และ D: มาบรรจบกันกลายเป็นเหมือนอาร์คโค้งที่บิดเบี้ยวโอบล้อมบริเวณโซนที่นั่งชั้น 1 และโถงทางเข้าหลักให้คนรู้สึกเหมือนได้นั่งอยู่ในครัวซองต์เมื่อเข้ามาในร้าน

ใช้คอนกรีตหล่อในช่วยตอบโจทย์ในเรื่องของระยะเวลาการก่อสร้างที่ลดน้อยลง ทั้งยังลดขั้นตอนการเก็บงานผนัง ทำให้ลดต้นทุนและยังสร้างความสวยงามที่ยั่งยืน บำรุงรักษาต่ำ ส่งผลดีในระยะยาวต่อธุรกิจอย่างยั่งยืน

เลเยอร์ริ้วร่วนกรอบสู่เท็กซ์เจอร์ผนังหล่อ

ต่อยอดแรงบันดาลใจจากครัวซองค์ สู่ผิวสัมผัสของอาคารผ่านเทคนิคผนังหล่อในที่ เพื่อสื่อถึง “ริ้วของครัวซองต์” (Croissant Stripe) ที่มีการซ้อนเลเยอร์กันของแป้งและเนย เกิดความกรอบฟูไม่เรียบเนียนตามแบบฉบับครัวซองต์ชั้นดี ต่อยอดกลายเป็นเท็กซ์เจอร์ของคอนกรีตที่ไม่เรียบเนียน สอดคล้องกับแนวคิดความสมบูรณ์ในความไม่สมบูรณ์แบบ

โดยเทคนิคการใช้คอนกรีตหล่อในที่นี้ยังช่วยตอบโจทย์ในเรื่องของระยะเวลาการก่อสร้างที่ลดน้อยลง ทั้งยังลดขั้นตอนการเก็บงานผนัง ทำให้ลดต้นทุนและยังสร้างความสวยงามที่ยั่งยืน บำรุงรักษาต่ำ ส่งผลดีในระยะยาวต่อธุรกิจอย่างยั่งยืน

“ความสวยงามในความไม่สมบูรณ์แบบของผิวที่มีความกระดำกระด่าง เมื่อโดนแดด โค้งต่าง ๆ จะแสดงแสงและเงาแตกต่างกันไปตามช่วงเวลา หรือวันที่ฝนตกแล้วคอนกรีตมีสีเข้มขึ้นไม่เท่ากัน เกิดความงามในหลากหลายบริบท เป็นความงามที่อยู่ยงคงกระพัน” – TOUCH Architect

หยอดลูกเล่นที่ดูโดดเด่นน่าเชื้อเชิญคนทุกกลุ่ม นั่นคือการประดับรูปปั้นเฟรนช์บูลด็อกสีชมพูอันเป็นเอกลักษณ์ของร้าน

กิมมิกดีเทลที่โอบรับทุกกลุ่มลูกค้า

ในฐานะที่เป็นคาเฟ่สาขาที่ 3 ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าเดิมหลากหลายกลุ่มและทุกช่วงอายุ ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน ไปจนถึงผู้สูงอายุ ภาพรวมของร้านจึงต้องไม่ดูหวานฉ่ำเกินกว่าลูกค้าชายจะเลือกนั่ง แต่ต้องไม่ดิบกระด้างเกินกว่าที่กลุ่มเด็ก ๆ และแม่ ๆ จะเข้าถึง สถาปนิกได้เลือกใช้ความเรียบง่ายเข้ามาเป็นเครื่องมือการสื่อสาร และหยอดลูกเล่นที่ดูโดดเด่นน่าเชื้อเชิญคนทุกกลุ่ม นั่นคือการประดับรูปปั้นเฟรนช์บูลด็อกสีชมพูอันเป็นเอกลักษณ์ของร้าน

ทีมผู้ออกแบบได้ใส่ใจนำอิริยาบถของสุนัขที่สื่อถึงอารมณ์แตกต่างกัน มาสร้างสรรค์ประติมากรรม และเลือกวางต้นไม้ภายในร้านเพื่อเพิ่มชีวิตชีวาและความสดชื่น
นำรูปปั้นขนาดใหญ่สุดมาจัดวางไว้ที่ด้านหน้า เพิ่มเติมด้วยรูปปั้นขนาดเล็ก ๆ ที่ประดับตกแต่งอยู่ในทุกมุมของร้าน

โดยนำรูปปั้นขนาดใหญ่สุดมาจัดวางไว้ที่ด้านหน้า เพิ่มเติมด้วยรูปปั้นขนาดเล็ก ๆ ที่ประดับตกแต่งอยู่ในทุกมุมของร้าน ช่วยดึงดูดกลุ่มลูกค้าตั้งแต่เด็ก ๆ ไปจนถึงผู้สูงอายุ ให้อยากเข้ามาถ่ายรูปและเอ็นจอยกับคาเฟ่ โดยทีมผู้ออกแบบได้ใส่ใจนำอิริยาบถของสุนัขที่สื่อถึงอารมณ์แตกต่างกัน มาสร้างสรรค์ประติมากรรม ไม่ว่าจะเป็นท่าที่น้องหมาจะใช้บอกรัก หรือต้อนรับเวลาเจ้าของกลับบ้าน ไปจนถึงการเลือกวางต้นไม้ภายในร้านเพื่อเพิ่มชีวิตชีวาและความสดชื่น

พื้นที่นั่งชั้น 2 จัดการสเปซให้มีที่นั่งไม่มากเกินไป เพื่อให้ทุกคนได้ใช้เวลาพักผ่อนร่วมกันอย่างเต็มที่

ประสบการณ์ของลูกค้าที่สร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ

นอกจากเส้นสายเว้าโค้งบนสถาปัตยกรรม ยังสร้างความใกล้ชิดกับลูกค้าด้วยเส้นโค้งครัวซองต์ที่สอดแทรกลงไปในดีเทลต่าง ๆ เช่น กระจกโค้งในห้องน้ำ หรือการสร้างลวดลายโค้งลงบนพื้นที่นั่งชั้น 2 ผ่านการเปลี่ยนวัสดุที่สัมผัสถึงความรู้สึกที่เปลี่ยนไปเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ รวมไปถึงการจัดการสเปซให้มีที่นั่งไม่มากเกินไป เพื่อให้ทุกคนได้ใช้เวลาพักผ่อนร่วมกันอย่างเต็มที่

ความตั้งใจสร้างประสบการณ์มาจากการมองถึงความยั่งยืนของโครงการที่ไม่ใช่เพียง Low maintenance แต่ต้องไม่หวือหวาตามเทรนด์จนอยู่ได้ไม่นาน การ Create Space ที่แตกต่าง ถือเป็นจุดสำคัญ แม้เวลาจะล่วงเลยไปนานแค่ไหน แต่ที่นี่จะทำให้คนรับรู้ถึงความแปลกใหม่อยู่เสมอ

สร้างฟังก์ชันที่เรียกว่า Shading Device โดยดึงเส้นโค้งบางส่วนออกมาเป็นฟาซาดแสดงให้เห็นจากภายนอกเพื่อป้องกันฝุ่นและแสงแดดให้แก่พื้นที่นั่งด้านในร้าน

แม้จะมีตัวเลือกคาเฟ่อื่น ๆ อีกมากมาย แต่ในทุกองค์ประกอบเหล่านี้ กลับทำให้ French Kitsch III Café กลายเป็นคาเฟ่ที่สร้างประสบการณ์ที่ผู้คนมองหาได้ โดยสื่อสารความเป็น French Kitsch พร้อมดึงดูดผู้คนด้วย ‘ดีไซน์’ ให้กลุ่มลูกค้าหลากหลายเลือกที่นี่เป็น Cafe Destination อย่างไม่อาจปฏิเสธได้

ที่ตั้ง
โครงการ City Link ตำบลในเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครราชสีมา
พิกัด https://maps.app.goo.gl/pPXqYBzamnmPqEFt7
เปิดทุกวัน 7.00 – 21.00 น.
โทร. 09-8997-9962

ออกแบบ: TOUCH Architect

ภาพ: Metipat Prommomate & Anan Naruphantawat
เรื่อง: Sundaynightsofast


Harudot Khao Yai หยิบไอเดียตัด-พับกระดาษคิริกามิ สู่ คาเฟ่เขาใหญ่ เด่นตระหง่านกลางธรรมชาติ