FACTOPIA : CREATIVE SPACE
หากคาดเดาจากเพียงชื่อหรือจากภาพที่ตาเห็น ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะหาคำจำกัดความที่ถูกต้องให้กับอาคารเงียบขรึมทึมทึบหลังใหญ่ใต้แมกไม้ริมถนนรัตนาธิเบศร์แห่งนี้
สำนักงาน – สตูดิโอ – โคเวิร์คกิ้งสเปซ – แกลเลอรี่ -โรงละคร – ร้านกาแฟ – ร้านอาหาร หากมองเพียงผิวเผินก็ดูเหมือนว่าชนิดอาคารทั้งหลายเท่าที่นึกออกจะสามารถใช้นิยามประเภทของอาคารหลังใหญ่หลังนี้ได้แทบทั้งสิ้น…หรือแท้ที่จริงอาจผิดทั้งหมด
“ปัจจุบันที่นี่ให้คนมาเช่าทำอีเว้นต์ต่าง ๆ เช่น ถ่ายรูปถ่ายมิวสิควิดีโอ แต่ในอนาคตอยากจะมีโปรเจ็กต์ที่หลากหลายกว่านี้ เช่น การฉายหนัง ศิลปะการแสดงหรือมาเดินแฟชั่นโชว์ ซึ่งเดือนธันวากำลังจะทำโอเพ่นเฮ้าส์กัน จะมีคนจากแบงกอกบัลเลต์มาทำเพอร์ฟอร์มานซ์แบบ Specific Site”
ฟิ่ว – ฐิติรัตน์ คัชมาตย์ นักออกแบบเครื่องประดับเจ้าของสถานที่ลึกลับกำลังเล่าเรื่องราวของ “ Factopia ” อาคารชื่อแปลกซึ่งเธอปลุกปั้นมันขึ้นมาเอง หลังจากเรียนจบปริญญาโท สาขา Design Products จาก RoyalCollege of Art แห่งสหราชอาณาจักร คุณฟิ่วกลับบ้านและเริ่มมองหาสถานที่ใหม่ที่จะเป็นสตูดิโอออกแบบของตัวเอง เมื่อได้พบกับร้านอาหารเก่าอายุ 30 ปีที่ถูกทิ้งร้างในอาณาบริเวณของที่ดินที่กว้างถึง 4 ไร่ ซึ่งครอบครัวของเธอได้สิทธิ์การเป็นเจ้าของที่ดินมาในเวลานั้น จุดเริ่มต้นของการสร้างพื้นที่ในฝัน นอกเหนือจากการเป็นที่ทำงานของตัวเองจึงเกิดขึ้น
“หาผู้รับเหมามา 3 – 4 คน ทุกคนก็พูดว่าทุบสร้างใหม่ถูกกว่า…ซึ่งก็จริง (หัวเราะ) แต่ความคิดตอนนั้นคือถ้าเราทุบสร้างใหม่ มันก็จะเป็นอาคารที่ใครก็สร้างได้ซึ่งประวัติศาสตร์ 30 ปีของโครงสร้างพวกนี้ บางทีมันก็สร้างอีกไม่ได้”
การจะปลุกชีวิตร้านอาหารที่ถูกทิ้งร้างให้กลายเป็นสถานที่ใหม่ที่มีการใช้งานต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิงนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน ซากอาคารเดิมในเวลานั้นประสบปัญหาหลักข้อใหญ่คือ หลังคารั่วซึม ซึ่งเมื่อฝนตกอาการจะร้ายแรงจน “ไหลเป็นน้ำตก” ตามคำบอกเล่าของเจ้าของในระหว่างหาทางแก้ปัญหาดังกล่าว นักออกแบบก็พบทางเลือกที่ทำให้อาคารสำเร็จออกมาเป็นหน้าตาสุดท้ายเช่นในปัจจุบัน
“เดิมมันคือร้านอาหารเก่า มีชั้นเดียว หลังคารั่ว วิธีที่แก้ได้คืออุดรอยรั่วหลังคาด้วยเรซิน เราให้คนตีราคามาดูปรากฏว่าเรซินมันรับประกันแค่ 1 ปี ซึ่งแปลว่ารับได้แค่1 ฝน แล้วฝนหน้าจะเกิดอะไรขึ้น เราเลยตัดสินใจเลือกกันฝนด้วยการทำหลังคาเมทัลชีทซ่อนไว้แทน เพราะอยู่ทนกว่าถึง 10 – 20 ปี พอมีหลังคาใหม่ ตึกมันก็เริ่มลาม ก็เริ่มจะเห็นว่าถ้าเรายกหลังคาขึ้นอีกนิด มันก็จะเป็นชั้น 2 ได้นะได้พื้นที่ใช้งานเพิ่ม ตึกนี้จึงเหมือนจะเกิดจากการแก้ปัญหาไปเรื่อย ๆ”
หลังจากผ่านการรีโนเวต อาคารที่สำเร็จแล้วในปัจจุบันแบ่งการใช้งานออกเป็น 2 ส่วนหลัก ส่วนแรกคือ “โถงอเนกประสงค์” ด้านหน้า เปิดเป็นส่วนสาธารณะสำหรับเช่าจัดกิจกรรม อีเว้นต์ หรือจัดงานแสดงศิลปะไม่จำกัดประเภท ส่วนที่ 2 คือ “ส่วนห้องทำงานหรือสตูดิโอให้เช่า”มีทั้งหมด 7 ห้องบนชั้น 2 แยกทางเข้าจากทางสาธารณะหลักให้เข้าทางด้านหลัง เพื่อความเป็นส่วนตัวของเหล่าคนทำงาน และเป็นพื้นที่สำหรับผู้เช่าเท่านั้นที่เข้าถึงได้ในส่วนนี้เจ้าของโครงการยังเล่าถึงความมุ่งหมายที่ต้องการให้พื้นที่ของเธอเป็นเหมือนชุมชนเล็ก ๆ ของคนทำงานออกแบบหรือทำงานศิลปะในหลากหลายแวดวง ให้สถานที่แห่งนี้ได้เป็นที่พบปะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้หลากแขนงของคนทำงานสร้างสรรค์
และฝันของนักออกแบบก็ดูเหมือนจะไม่จบเพียงแค่นั้นแต่เธอยัง “อยากให้มีบ้านที่จะให้ศิลปินมาอยู่ระยะยาวเป็น ‘Artist Residence’ ศิลปินอยากจะสร้างอะไรอยากจะทำอะไรร่วมกับสถานที่นี้ ก็ทำได้จากวัสดุที่มีที่มีอยู่แล้วตอนนี้ก็มีกองต้นสัก อาจทำออกมาเป็นผลงานเป็นเก้าอี้ หรือเป็นของที่ใช้ในนี้ก็ได้”
กิจกรรมที่ดูเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม ประกอบกับหน้าตาของอาคารทึมเทาที่ตระหง่านเงียบอยู่ใต้แมกไม้เขียวชอุ่มอากาศจะเวียนพาฟ้าครึ้มหรือแดดใสมาทักทาย โกดังในฝันหลังใหญ่ก็ดูจะไม่สะทกสะท้าน สถานที่แห่งนี้จึงคล้ายว่าได้ตัดขาดจากโลกภายนอกไปแล้วอย่างสิ้นเชิง
เหมือนเป็นเกาะที่แยกขาดจากพื้นดิน แม้กระทั่งท้องฟ้าที่มันเกาะเกี่ยว
ก่อนที่ความสงสัยของเราจะเตลิดไปไกลกว่านั้นนักออกแบบก็ได้ตอบคำถามด้วยภาพฝันของสถานที่ ที่ดูคล้ายจะเข้าใกล้สังคมอุดมคติเข้าไปทุกที และแน่นอนเธอรู้ตัวว่ามันกำลังจะเป็นเช่นนั้น
“ชื่อ Factopia มันก็คล้าย ๆ ว่าเราสร้างโลกของเราเล็ก ๆ ขึ้นมาในนี้…เหมือนเป็นยูโทเปียของเรา” เพราะนักออกแบบพบว่า ในขณะที่อาคารกำลังถูกปรับปรุงวัตถุดิบและเหตุการณ์หลายอย่างที่ไม่ได้ตั้งใจให้มีแต่แรกก็ได้พาสถานที่ของเธอไปสู่สิ่งใหม่ ๆ ที่น่าสนใจยิ่งกว่าเดิม “หลาย ๆ อย่างมันเกิดจากความบังเอิญมาก เช่น กองไม้ที่เหลือจากการก่อสร้าง ก็มีคนมาขอออกแบบให้เป็นเก้าอีซึ่งต่อไปเราก็จะนำไปให้คนใช้นั่งดูเพอร์ฟอร์มานซ์บนชั้นลอยแล้วเมื่อจบการแสดง เราก็จะเล่าว่า แม้แต่เก้าอี้ที่คุณนั่งอยู่ก็เป็นงานออกแบบที่ถูกผลิตขึ้นภายในนี้ หรือก่อนหน้านี้มีคนงานเอาไก่มาเลี้ยงไว้กินไข่เพื่อลดค่าใช้จ่ายรายวัน ซึ่งตอนนี้กลายเป็นลามไปมีถึง 40 ตัว จนต้องล้อมคอก เพราะฉะนั้นกลายเป็นว่าเราไม่ได้ขยับขยายเฉพาะแค่ตึกนี้ พื้นที่ทั้งหมด 4 ไร่ยังมีพื้นที่ข้างหลังที่คิดจะทำอะไรได้อีกเยอะ”
และพร้อม ๆ กับภาพฝันที่ต้องการให้เป็นคอนเซ็ปต์ของรูปลักษณ์ โครงสร้าง การตกแต่ง จึงคลี่คลายตามกันมาติด ๆ “คอนเซ็ปต์คืออยากได้อารมณ์โรงงาน ‘Factory’ มันแปลว่าแหล่งผลิต มันมีคำว่า ‘Fact’ด้วย ซึ่งแปลว่า ‘ความจริง’ เพราะฉะนั้นของทุกอย่างที่นี่มีอยู่เพราะฟังก์ชัน ไม่ใช่อยู่เพราะความสวยงามเรามักจะเห็นการออกแบบที่นิยมแต่งแนวโรงงาน แต่ของที่นี่มันคือการเสริมความแข็งแรงจริง ๆ”
ดังเช่นที่นักออกแบบกล่าว โครงสร้างและพื้นผิวของผนัง พื้น เพดานล้วนถูกปล่อยให้เปลือยเปล่าโครงเหล็กเสริมรับความแข็งแรงให้กับโครงสร้างเดิมก็แสดงหน้าที่รับน้ำหนักอย่างตรงไปตรงมาไม่ถูกปิดทึบผนังที่ก่อขึ้นใหม่ ส่วนประกอบอย่างประตูเหล็ก ก็แสดงสัจจะของพื้นผิวทั้งอย่างนั้น พื้นผิวผนังใดที่มีอยู่เดิมก็ปล่อยร้างทิ้งสภาพไว้ไม่ปกปิดแตะต้อง
แม้จะไร้การตกแต่ง ดูดิบ จริงแต่เรากลับพบว่าทั้งอาคาร และสถานที่นั้นเต็มไปด้วยเนื้อเรื่องยิบย่อยอวลไปด้วยประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ในทุกองค์ประกอบของงานก่อสร้างเร้นอยู่ทั่วอาณาบริเวณหลังเขตรั้วไพศาล และซ้อนทับสลับปนเปอย่างทั้งตั้งใจ และไม่ตั้งใจ
หน้าที่หลักของอาคารคือการเป็นพื้นที่จัดแสดงศิลปะ แต่การปรากฏขึ้นของอาคารมากเรื่องราว ก็ดูเหมือนว่าจะมีหน้าที่ที่นอกเหนือจากนั้น
“ตึกนี้ก็เป็นเหมือนงานศิลปะอีกชิ้นนะ” ดังที่นักออกแบบเห็นเป็นเช่นนั้น …
https://www.youtube.com/watch?v=hgHIFc2kWJc
ออกแบบ Factopia and Friends
FB : @factopia / www.factopia.info
พิกัด : 36/2 ถนน รัตนาธิเบศร์ ตำบล ไทรม้า อำเภอเมืองนนทบุรี นนทบุรี 11000
MAP : @13.8611262,100.4342142
อ่านต่อ CREATIVE SPACE อื่นๆ :
http://www.baanlaesuan.com/74492/design/yelo-house/
http://www.baanlaesuan.com/70830/design/warehouse-30/
http://www.baanlaesuan.com/58500/design/tcdc-redefining-the-district/
http://www.baanlaesuan.com/27480/design/directory/the-commons/
http://www.baanlaesuan.com/12491/design/directory/72-courtyard/
เรื่อง กรกฎา
ภาพ ศุภกร