แต่กว่าจะเป็นฟาร์มเกษตรออร์แกนิกอย่างที่เห็น ต้องผ่านขั้นตอนมากมายเริ่มจากการสำรวจและวิเคราะห์พื้นที่โครงการ ซึ่งเดิมที่นี่เคยเป็นนามาก่อน รอบ ๆ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติหลากหลาย ไม่ว่าจะแนวต้นสักที่คุณพ่อปลูกไว้ ต้นไม้ใหญ่อายุกว่า 20 ปี ดงต้นสบู่ดำที่ขึ้นเรียงรายเป็นแนวอุโมงค์ ที่สำคัญคือมีคลองชลประทานพาดผ่านพื้นที่ จึงรับประกันได้ว่าจะมีน้ำเพียงพอกับการทำเกษตรแน่นอน
หลังจากรู้ตำแหน่งและลักษณะพื้นที่แต่ละส่วนแล้ว ภูมิสถาปนิกจึงสามารถแบ่งพื้นที่และกำหนดฟังก์ชันลงไปในแต่ละส่วนได้สะดวก โดยเลือกเก็บพื้นที่นาไว้ แม้ตอนแรกคุณนุ๊กคิดจะแบ่งขายที่ดินบางส่วนเพื่อนำเงินมาบริหารโครงการให้สำเร็จ แต่ผู้ออกแบบกลับเสนอว่าให้เปลี่ยนเป็นการเลือกผู้ที่มีอุดมการณ์การทำเกษตรแบบเดียวกันมาใช้พื้นที่ร่วมกัน จนกลายเป็นคอมมูนิตีออร์แกนิกขนาดย่อม ประกอบด้วยอาคารจำนวน 9 หลัง กระจายออกเป็น 3 ตำแหน่ง 3 มุมมองให้เลือก ไม่ว่าจะวิวท้องนา แปลงผัก และวิวแม่น้ำ แต่ละหลังจะได้รับการสอดแทรกแนวคิดหลักของโครงการเข้าไป เสมือนเป็น De Farm ขนาดเล็ก โดยมีข้อตกลงว่าจะต้องทำเกษตรแบบออร์แกนิกด้วยเช่นกัน
และเพื่อให้นาข้าว แปลงผักและผลไม้ รอบ ๆ ฟาร์มเจริญเติบโตได้ดี จึงจำเป็นต้องขุดบ่อน้ำเพิ่มเพื่อให้น้ำจากคลองชลประทานสามารถไหลผ่านเข้ามาถึงพื้นที่ต่าง ๆ ในโครงการ เพียงพอสำหรับใช้รดน้ำพืชพรรณต่าง ๆ รวมถึงการปรับปรุงดินให้มีคุณภาพ ด้วยการนำมูลสัตว์ที่เลี้ยงไว้มาทำเป็นปุ๋ย ทั้งมูลวัว ไก่ และเป็ด รวมถึงต่อยอดไปสู่การผลิตพลังงานทางเลือกอย่างไบโอดีเซลและไบโอแก๊สไว้ใช้ภายในโครงการด้วย
จากการเยี่ยมชมฟาร์มออร์แกนิกแห่งนี้ ได้ทำให้เราเห็นว่านอกจากภูมิสถาปนิกจะใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ประกอบกับองค์ความรู้ด้านวิชาชีพ ในการวางผังออกแบบระบบทางสัญจร และระบบการปลูกพืชแล้ว ยังต้องคำนึงถึงเรื่องความสวยงามเพื่อให้โครงการมีความสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น อีกทั้งยังต้องทำงานร่วมกับสถาปนิกสำหรับวางผังพื้นที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม อยู่สบาย ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อมหรือต้องพึ่งพาเทคโนโลยีตลอดเวลา
“เราอยากให้คุณนุ๊กสร้างต้นแบบของบ้านที่อยู่ระหว่างชานเมืองกับชนบท คือเป็นสเปซที่มีวิวชนบท แต่ก็มีความเป็นเมืองผสมกันอยู่ อนาคตรูปแบบที่ว่ามานี้มันอาจจะเป็นสมาร์ทโฮมก็ได้” ผู้ออกแบบกล่าวถึงความฝันที่อยากเห็นพื้นที่นี้พัฒนาไปไกลกว่าแค่การทำเกษตรกรรม
แม้ว่าคุณนุ๊กจะหายป่วยตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ที่เริ่มหันมาทำเกษตรแบบออร์แกนิก แต่ทั้งคู่ก็ยังไม่หยุดคิด ไม่หยุดพัฒนา เพราะหวังว่าสักวันหนึ่งแนวคิดการหวนกลับคืนสู่ธรรมชาติ และปล่อยให้ธรรมชาติได้เยียวยารักษาร่างกายและจิตใจนั้น จะสามารถส่งต่อไปยังผู้ที่สนใจและนำไปสู่การทำเกษตรแบบยั่งยืนต่อไป
เจ้าของ : คุณนุ๊ก-รชุดา และ คุณปั๊บ-ทวีพัฒน์ ศรียากร
ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม : Ixora Design Limited
อ่านต่อ สามพรานโมเดล เกษตรกรรมที่ยั่งยืน
เรื่อง : woofverine
ภาพ : w workspace