หลังค้นพบว่าป่าที่คุณพ่อ (คุณสงวน กุญแจทอง) เคยปลูกไว้คือคลังความทรงจําทั้งชีวิตของเขา บวกกับมองเห็นถึงอันตรายของสารเคมีในการทําภาพพิมพ์ ที่มีผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รองศาสตราจารย์ญาณวิทย์ กุญแจทอง อาจารย์ประจำภาควิชาภาพพิมพ์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงใช้เวลาเกือบ 20 ปี ทดลองสกัดสีจากพืชในผืนป่าที่เปรียบเสมือนคลังสีขนาดยักษ์ เฟ้นหาส่วนผสม และคิดค้นเทคนิคภาพพิมพ์สีธรรมชาติ (Organic Print) อย่างไม่รู้จบ จนเกิดเป็นผลงานที่บันทึกเรื่องราวทั้งชีวิตของเขา
“ผมพบคําตอบว่า ชีวิตศิลปินเป็นเช่นไร งานศิลปะก็เป็นเช่นนั้น เมื่อค้นพบการทําภาพพิมพ์สีจากธรรมชาติเป็นครั้งแรกเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน” ศิลปินคนแรกที่สามารถสกัดสีธรรมชาติมาใช้ในงานภาพพิมพ์ ผู้คว้ารางวัลจากเวทีระดับโลก และได้รับเชิญไปแสดงผลงาน บรรยาย ตลอดจนจัดเวิร์คชอปศิลปะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในต่างแดนอยู่เสมอบอกกับเราอย่างนั้น
นอกจากความสวยงามของสีสันและเท็กซ์เจอร์เฉพาะตัวของพรรณไม้ไทย เช่น มะเกลือ ที่ให้ภาพเหมือนดวงดาวบนท้องฟ้ายามค่ำแล้ว งานยังบอกเล่าความผูกพันของศิลปินที่มีต่อคุณพ่อ ธรรมชาติ รวมถึงเรื่องราวการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันของอาจารย์หลากหลายมิติ โดยไม่จําเป็นต้องประท้วงหรือป่าวประกาศใดๆ
“การค้นพบเทคนิคนี้คือการกลับไปสู่ตัวตนของเรา นําวิถีชีวิตที่มีอยู่มาใช้ในกระบวนการทางเทคนิคและวิธีคิดในชีวิตจริงผมก็กําลังต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมอยู่เหมือนกัน เพราะพื้นที่รอบๆ ป่าตอนนี้กำลังถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นฟาร์มโซลาร์เซลล์ การยืนหยัดทํางานภาพพิมพ์สีธรรมชาติ ก็เหมือนกับการยืนหยัดรักษาธรรมชาติ รักษาผืนป่านี้ไว้ งานจึงเป็นเครื่องบอกเล่าชีวิตตรงนี้ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นสีสันหรือเท็กซ์เจอร์ซึ่งให้อิมเมจที่งดงามและให้ความรู้สึกถึงชีวิตของต้นไม้นั้น ๆ เป็นความพิเศษที่สีเคมีให้ไม่ได้ และตัวงานเองสามารถพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ค่อนข้างลึก”
ทุกวันนี้อาจารย์ยังคงทํางานด้วยตัวเองอย่างไม่ลดละในทุกขั้นตอน ด้วยความเชื่อว่า นี่คือความรับผิดชอบ ความสุข และหัวใจสำคัญในการค้นพบความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการทำงานศิลปะ “เราไม่สามารถให้คนอื่นทำแทนได้ เพราะว่าทุกอย่างเกิดจากร่องรอยที่เราเป็นคนค้นพบและเข้าใจในสิ่งนั้น ตั้งแต่การหาสี สกัดสี เขียนลงบนแม่พิมพ์ มันมีเส้นทางเยอะแยะกว่าจะนําไปเข้าแท่นพิมพ์ ทุกจังหวะของการทํางานจึงสําคัญ และให้ความสุขกับเราทั้งสิ้น”
เมื่อแนวคิด กระบวนการ และวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับโลกของอาจารย์ หลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หลังจบการสนทนาเราเกิดคำถามขึ้นว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากภาพพิมพ์ของอาจารย์ไม่ได้ถูกพิมพ์ลงบนกระดาษ แต่กลับพิมพ์ลงบนผ้าทอใยธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทน
ถึงไม่แน่ใจว่า ผลลัพธ์ที่ได้จะออกมาสมบูรณ์ดังใจหรือไม่ อาจารย์ก็ยินดีทดลองสร้างสรรค์ผลงานครั้งใหม่ด้วยความใจดี การเฟ้นหาวัตถุดิบจึงเริ่มต้นขึ้นไปพร้อมกับการตั้งตารอผลลัพธ์ที่กําลังจะปรากฏขึ้นอย่างตื่นเต้น
ORGANIC PRINT ON NATURAL FABRIC
และแล้วการเดินทางของผลงานทดลองภาพพิมพ์สีธรรมชาติครั้งใหม่ก็เริ่มต้นขึ้น! กระบวนการทํางานครั้งนี้เริ่มจากการสกัดสีจากพืชหลากชนิด อาทิ
• ต้นตีนเป็ดฝรั่ง นําส่วนของดอกมาตําในครกให้พอละเอียดแล้ว บีบสีด้วยมือเปล่า จนได้สีน้ำตาลกำลังดี
• ผลคำเงาะ นำไปทำละลายในน้ำอุ่นอุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส เพื่อให้ได้เนื้อสีแดงสด
• ขมิ้นชัน นำไปปอกเปลือกก่อนใส่ลงไปในเครื่องคั้นน้ำผลไม้แยกกาก จนเกิดสีเหลืองสดใส
• ใบคราม ต้มจนได้สีน้ำเงินสวย เทสต์สีลงบนกระดาษเพื่อดูความเข้มข้น เมื่อแห้งเป็นเมือกก็ผสมน้ำผึ้งลงไปเพื่อทำละลาย
จากนั้นนําสีที่ได้ไประบายลงบนแม่พิมพ์อะลูมิเนียมที่ผ่านการขัดด้วยกระดาษทราย แล้วเคลือบด้วยกาวกระถิน (Arabic Gum) ช่วยให้สีติดบนผ้าฝ้ายและผ้าทอใยไผ่ผสมฝ้าย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก บริษัทไทยนําโชคเท็กซ์ไทล์ จํากัด
เมื่อสีบนแม่พิมพ์แห้งดีก็ปิดทับด้วยผ้าที่ผ่านการชุบน้ำ แล้วซับออกด้วยกระดาษปรู๊ฟ ใช้แผ่นใสทับอีกชั้น ก่อนกดให้ทั่วด้วย Baren อุปกรณ์ทำภาพพิมพ์ของญี่ปุ่น เพื่อให้สีติดคม จากนั้นค่อยๆ ดึงแผ่นใสและผ้าขึ้น
“ความน่าสนใจของผ้าคือ เตรียมความชื้นได้เร็ว ไม่ต้องแช่น้ำข้ามคืนเหมือนกระดาษ แต่เนื่องจากผ้ายับง่าย แทนที่จะนำไปเข้าแท่นพิมพ์ จึงเลือกพิมพ์ด้วยมือแทน งานครั้งนี้ถือเป็นการทดลองกับผ้าอย่างจริงจังครั้งแรกสำหรับคนทำงานศิลปะ การได้เปลี่ยนวัตถุดิบในการทำงานช่วยสร้างความน่าสนใจอย่างมาก เพราะงานของผมเป็นเรื่องของการทดลองหาสิ่งใหม่ๆ การนําผ้าธรรมชาตที่มีความหลากหลายของเท็กซ์เจอร์มาใช้ ก็เท่ากับช่วยให้การทำงานครั้งนี้สนุก แต่ก็สู้ความตื่นเต้นที่เกิดขึ้นไม่ได้” จากการทดลองผลลัพธ์ที่ได้ค่อนข้างดีกว่าที่คิดไว้ “ไม่น่าเชื่อว่า ผ้าบางชิ้นจะพิมพ์ติดหมด ผมคิดว่าน่าจะนําไปพัฒนาสู่งานภาพพิมพ์สีธรรมชาติสเกลใหญ่ขึ้นโดยไม่ใช้แท่นพิมพ์ รวมถึงพัฒนาต่อในแง่อื่น คิดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมนําไปต่อยอดต่อก็น่าจะเป็นอะไรที่ดีมาก”
สนับสนุนวัตถุดิบโดย
บริษัทไทยนําโชคเท็กซ์ไทล์ จํากัด
99 หมู่ 2 ซอยบางเมฆขาว ถนนสุขุมวิท ตําบลท้ายบ้าน อําเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรปราการ
โทร. 0-2389-2377 – 9