24 ชั่วโมงเต็มสำหรับบุคคลทั่วไปที่มีใจรักในงานศิลปะ ไม่ว่าคุณจะแค่ชื่นชมหรือชอบสะสมผลงานของศิลปิน Hotel Art Fair คืองานที่เปิดโอกาสให้คุณได้ทำทั้งสองสิ่งนั้นไปพร้อม ๆ กัน แถมยังมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดหรือพูดคุยกับศิลปินและเจ้าของแกลเลอรี่ที่มาจัดแสดงงานอย่างใกล้ชิด
Hotel Art Fair 2019 จัดขึ้นที่ ณ โรงแรม W Bangkok ใจกลางย่านสาทร เมื่อวันที่ 22 -23 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา สำหรับการจัดงานครั้งที่ 6 นี้ มีคอนเซ็ปต์ว่า “Breaking Boundaries” หรือการนำเสนอมุมมองให้เห็นถึงงานศิลปะที่สามารถทลายขอบเขต หรือข้อจำกัดในการแสดงออกได้อย่างแตกต่างเเละหลากหลาย ให้มาอยู่รวมกันได้ในห้องพักของโรงแรมแต่ละห้อง โดยเเต่ละแกลเลอรี่ที่มาร่วมจัดเเสดงงานต่างมีเอกลักษณ์เเละวิธีการคัดเลือกผลงานของศิลปินที่ไม่ซ้ำกัน
room ได้มีโอกาสพูดคุยกับพวกเขา ซึ่งมีทั้งเจ้าของแกลเลอรี่ ภัณฑารักษ์ และศิลปินต่างสาขา ทว่าทุกคนต่างมีจุดร่วมเดียวกัน นั่นคือการสร้างสรรค์และคัดสรรงานศิลปะที่ไร้ซึ่งขอบเขต ไม่มีผิด ไม่มีถูก เเละนี่คือบางส่วนจากหลาย ๆ ความคิดเห็นที่พวกเขามองโลกศิลปะในมุมของพวกเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นวงการที่พวกเขายืนอยู่ วิธีการที่พวกเขาสร้างสรรค์ผลงาน จุดมุ่งหมายสำคัญในการทำงานศิลปะ เเละเหตุผลในการเลือกสนับสนุนศิลปินที่ไม่ใช่เพียงเเค่ความชอบหรือชื่นชมศิลปะแต่เพียงผิวเผิน
ดังนั้นทุกความคิดเห็นที่ได้ยิน ทุกความหมายของ “Breaking Boundaries” ที่เราได้สัมผัสจึงเข้าถึงจิตวิญญาณเเละเบื้องลึกในจิตใจของพวกเขาอย่างเเท้จริง
“บางครั้งที่คนเรามีความรู้สึกที่หดหู่ในชีวิต ศิลปะสามารถพัฒนาจิตใจของคนได้”
จากห้องโถงหลักของศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบ็งคอก 333 Gallery หรือ 333 Bababa Gallery ได้คัดเลือกงานศิลปะจากศิลปินผู้มีชื่อเสียงทั้งชาวไทยและเวียดนามมารวมไว้ด้วยกันที่ห้อง 706 ชั้น 7 ของ W Bangkok นี่คือห้องแรกที่เราเลือกแวะมาชม และพูดคุยกับเจ้าของแกลเลอรี่สาวสวย คุณแนน-ธริศา วานิชธีระนนท์ ผู้มีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมผลงานของศิลปินในระดับภูมิภาคอาเซียนให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล
“ศิลปะไม่มีขอบเขต เราสามารถนำงานศิลปะหลาย ๆ งานมาอยู่รวมกันได้ ผลงานศิลปะในห้องนี้มาจากศิลปิน 8 ท่านที่เราเชิญมา เเละจะเป็น 3 คน ที่เป็นโฮสต์ ถ้าลองดูจะเห็นในหลาย ๆ มุมที่มันมารวมกัน แล้วมันก็สามารถที่จะอยู่ด้วยกันได้” คุณแนน อธิบายความหมายของ Breaking Boundaries ในมุมมองของเธอเอง
คุณเเนนเป็นเจ้าของแกลเลอรี่อีกคนที่เชื่อว่าศิลปะสามารถสร้างมุมมองใหม่ที่ดีให้ชีวิต และสร้างพลังงานบางอย่างที่สามารถเยียวยา หรือพัฒนาจิตใจของผู้ที่พบเห็นได้
เธอบอกว่า “บางครั้งที่คนเรามีความรู้สึกที่หดหู่ในชีวิต ศิลปะสามารถพัฒนาจิตใจของคนได้ บางครั้งไม่เพียงแค่ภาพบางภาพของน้องบางคน หรือว่าภาพบางภาพของพี่บางคนก็จะมีบางองค์ประกอบบางอย่างอยู่ในภาพ ที่ดูเเล้วเกิดความรู้สึกประทับใจ เข้าถึงผู้ชมภาพที่อยู่ตรงหน้านั้นได้ ”
“ไม่ว่าจะเป็นภาพพอร์เทรต หรือภาพวาดที่เป็นลักษณะเป็นแค่ก่อนหินธรรมดาหนึ่งก้อน ผู้ชมสามารถมีมุมมองที่กว้างออกไปได้แบบไม่มีขอบเขต เเละไม่ได้เข้าถึงใครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ศิลปะหนึ่งชิ้นที่สร้างสรรค์ขึ้นมา สามารถเข้าถึงจิตใจของคนได้หลากหลายมากกว่าที่คิด”
“เราเชื่อว่างานศิลปะของศิลปินทุกชิ้นมีสิทธิ์ที่จะแสดงออก แม้ในเนื้อหาบางอย่างของเขา มันจะถูกบริบทต่าง ๆ มาปิดกั้นก็ตาม”
ถัดมาอีกหนึ่งห้อง ที่ห้อง 705 บนชั้นเดียวกันนี้ คือพื้นที่จัดแสดงงานของ Joyman Gallery ซึ่งมี คุณนนนี่ – วิชชากร ต่างกลางกุลชร ภัณฑารักษ์ที่บอกกับเราในอีกแง่มุมหนึ่งแบบตรงไปตรงมาในฐานะที่เธอเป็นทั้งศิลปินคลุกคลีในแวดวงศิลปะมาตลอดหลายปี และรับหน้าที่เป็นผู้คัดเลือกผลงานของศิลปินมาสู่นิทรรศการในครั้งนี้
“ในมุมมองส่วนตัวผู้บริหารกับภัณฑารักษ์ของแต่ละแกลเลอรี่ มีผลต่อการคัดเลือกงานเพื่อผลักดันศิลปินเเตกต่างกันไป โดยคาแร็กเตอร์ของแต่ละแกลเลอรี่ หรือคาแร็กเตอร์ของภัณฑารักษ์จะส่งผลต่อการก้าวหน้าของศิลปินไปอีกขั้น ซึ่งคาแร็กเตอร์ของ Joyman Gallery งานจะค่อนข้างมีประเด็นในลักษณะที่มีความล่อแหลม มีความส่อเสียด และก็มีคาแร็กเตอร์ในลักษณะของความเป็นไทยที่มันชัดเจนมาก ๆ มีความไทยแต่มีความจริตอะไรบางอย่างที่มีความโมเดิร์น โดยจะไม่พยายามยัดเยียดจนเกินไป”
Breaking Boundaries ของ Joyman Gallery ค่อนข้างชัดเจนในการก้าวผ่านขอบเขตของความกล้าที่จะนำเสนอเนื้อหาของงานศิลปะที่ค่อนข้างล่อแหลมและมีประเด็นในทางสังคม เธอขยายความว่า
“ที่นี่มีความเปิดกว้างที่จะสนับสนุนผลงานทุกรูปแบบ โดยไม่จำเป็นจะต้องเซ็นเซอร์ หรือปิดบังผลงานศิลปะอีกต่อไป เพราะเราเชื่อว่างานศิลปะของศิลปินทุกชิ้นมีสิทธิ์ที่จะแสดงออก แม้ในเนื้อหาบางอย่างของเขา มันจะถูกบริบทต่าง ๆ มาปิดกั้นก็ตามแต่ แต่สำหรับเรามองว่าเนื้อหาบางอย่าง ถึงแม้รูปลักษณ์จะมีลักษณะล่อแหลม หรือส่อเสียดนิด ๆ แต่เราเชื่อว่าเนื้อหาข้างในของศิลปินที่ต้องการจะถ่ายทอด เขาไม่ต้องการจะพูดเรื่องนั้นหรอก เขามีความลึกซึ้งมากกว่านั้น แล้วถ้าเราอ่านงานเขาดี ๆ จะพบกับเนื้อหาที่ลึกซึ้งกินใจ มากกว่าการนำเสนอแบบโฉ่งฉ่าง ขึ้นอยู่กับเราเเละเเกลเลอรี่ว่าจะกล้าให้ใจผลักดันเขาหรือเปล่า เพราะศิลปินต้องการพื้นที่แสดงออกถึงสิ่งที่อยู่ในใจผ่านงานศิลปะ และต้องการคนสนับสนุน ”
“การไปด้วยกันกับศิลปิน ทำงานด้วยกันกับศิลปิน แล้วจะช่วยส่งผลให้ศิลปินเขาก้าวหน้า แม้จะต้องถูกเซ็นเซอร์เนื้อหา ถูกปิดบัง ซ่อนเร้น หรือถูกสังคมปิดกั้น แต่ถ้าเขามีแรงขับเคลื่อนเเละได้รับการสนับสนุน เขาก็จะสามารถแสดงออกถึงสิ่งที่เขาอยากจะพูดได้มากขึ้น”
เธอทิ้งท้ายถึง Boundaries ที่ปิดกั้นโอกาส ปิดกั้นการเติบโตของศิลปินไว้อย่างน่าสนใจว่า
“ศิลปินที่เขาส่งผลงานประกวดไม่ได้ หรือมีเนื้อหาที่ไม่อาจส่งประกวดได้ นั่นอาจเกิดจากเหตุผลในเเง่ของความนิยม ความชอบ หรืออะไรก็ตามเเต่ หากเเกลเลอรี่เอกชนหลาย ๆ แห่งยอมรับงานที่มีเนื้อหาแตกต่างจากงานขนบนิยมที่ว่านี้ได้ ก็จะช่วยให้ศิลปินมีทางออกในการนำเสนอผลงานมากขึ้น ”
“ศิลปินชอบมีความเชื่อว่าเขาต้องทำอย่างนั้น เขาถึงจะได้รับการยอมรับ ได้มีชื่อเสียง แต่จริง ๆ แล้วเขาไม่จำเป็นต้องหลอกตัวเองเลย แค่ทำสิ่งที่เขาซื่อสัตย์ต่อใจเขา ทำงานกับคนที่พร้อมจะผลักดันเขา นั้นแหละคือจุดที่เขาจะต้องโฟกัส ไม่ใช่ผันตัวเองไปทำตามแบบแผนที่คิดว่าตัวเองจะดัง”