แบบบ้านไม้ บ้านฐานสองที่เจตนารบกวนโลกให้น้อยด้วยการออกแบบ

BINARY WOOD HOUSE บ้านไม้ ฐานสองที่เจตนารบกวนโลกให้น้อยด้วยการออกแบบ

บ้านไม้ บนที่ดินเปล่าใกล้เนินเขาซึ่งมีกลุ่มต้นพะยูงเติบโตเคียงกันมาเป็นเวลานานในเขาใหญ่ Binary Wood House แบบบ้านไม้ ผู้มาทีหลังคือบ้านตากอากาศที่ออกแบบขึ้นโดย TA-CHA Design สำหรับครอบครัวที่มีสมาชิก 5 คน โดยที่หัวหน้าสมาชิกของบ้านตั้งใจให้ที่นี่เป็นบ้านสำหรับใช้ชีวิตวัยเกษียณของเขาในอนาคต

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: TA-CHA Design

จากโปรแกรมแรกเริ่มที่เจ้าของตั้งใจให้ที่นี่เป็นห้องพัก Airbnb และรีสอร์ตส่วนตัว ก่อนจะมาจบที่บ้านตากอากาศในท้ายที่สุดนั้น ตลอดการปรับเปลี่ยนของโปรแกรมและการออกแบบ มีสิ่งเดียวที่ผู้ออกแบบและเจ้าของเห็นพ้องต้องกันและพยายามรักษาไว้ คือ การให้ความเคารพต่อเพื่อนบ้านหรือชาวบ้านที่อยู่มาก่อน สัตว์ประจำถิ่นที่อยู่มาก่อน รวมถึงต้นไม้ที่อยู่มาก่อนให้มากที่สุด แก่นแท้ของ แบบบ้านไม้ Binary Wood House จึงมีจุดเริ่มต้นมาจาก “การแสดงความเคารพ” ในแทบทุกส่วน

แบบบ้านไม้

“บ้านนี้ไม่ได้มีคอนเซ็ปต์ว่าหน้าตาเหมือนเขา บ้านนี้เป็นการรวมหลาย ๆ เรื่องเข้าด้วยกัน เรารู้สึกว่าถ้าคอนเซ็ปต์มันดูไม่จริง มันก็ไม่เกิดประโยชน์กับโลก แต่เราไม่ได้ต่อต้านนะ เราแค่เอาเรื่องนี้มาเป็นแนวคิดแล้วสรุปว่าบ้านหลังนี้จะรบกวนดินให้น้อย รบกวนต้นไม้ให้น้อย รบกวนพืชให้น้อย รวมทั้งรบกวนเพื่อนบ้านและชาวบ้านให้น้อย” สณทรรศ ศรีสังข์ หนึ่งในทีมผู้ออกแบบบอกกับเรา

บ้านถ่อมตน

ด้านโครงสร้าง ผู้ออกแบบเลือกใช้เหล็กเป็นโครงสร้างหลัก โดยมองว่าโครงสร้างเหล็กนอกจากสามารถรื้อถอนและนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ยังส่งผลกระทบต่อพื้นที่ก่อสร้างน้อยกว่าโครงสร้างคอนกรีต โดยเฉพาะน้ำปูนหรือคอนกรีตที่เหลือจากการเทในแต่ละครั้ง หลายหนทำให้สิ่งมีชีวิตและพืชพันธุ์ในพื้นที่เหล่านั้นได้รับผลกระทบจากการที่ผู้รับเหมาขาดการจัดการและขาดระเบียบวินัยที่ดีในการรักษาความสะอาดหลังจบงาน

องค์ประกอบของบ้านในส่วนผนัง ผู้ออกแบบเลือกใช้ผนังไม้เป็นหลัก เพราะไม้คือวัสดุที่สามารถปลูกทดแทนได้และยังใช้พลังงานไม่มากในการแปรรูป โดยกว่า 80% ของไม้ที่ใช้เป็นไม้เก่านำกลับมาใช้ใหม่แบบคละชนิด โดยคัดแยก ล้างหน้าไม้ และแบ่งแยกให้เหมาะกับงานและหน้าที่อันแตกต่างกันตามพื้นที่ใช้สอยของบ้าน

รูปแบบของผนังไม้ ผู้ออกแบบได้ทำการศึกษารูปแบบลักษณะของเรือนโคราช ซึ่งเป็นเรือนไม้พื้นถิ่นของจังหวัดนครราชสีมา ที่มีรูปแบบเฉพาะตัวมาประยุกต์ใช้ให้สอดรับไปกับงบประมาณที่มีอย่างจำกัด ในขณะเดียวกันก็ใช่ช่างไม้พื้นบ้านที่อยู่ในละแวกนั้นซึ่งมีความเข้าใจงานพื้นถิ่นรวมถึงเพื่อลดข้อจำกัดเรื่องการเดินทางไปในตัว ทั้งนี้ผู้ออกแบบอธิบายว่าในกรณีนี้อาจจะต้องมีการปรับตัวเข้าหากันระหว่างช่างกับผู้ออกแบบ ในเรื่องวิธีการทำงานและความเข้าใจหลายอย่าง เพื่อทำความเข้าใจกับสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่

แบบบ้านไม้

บ้านรักษาระยะ

ดังที่ผู้ออกแบบบอกกับเราว่า “พยายามหลีกเลี่ยงการแทรกต้นไม้เข้าไปใกล้บ้าน และไม่นำบ้านเข้าไปใกล้ชิดต้นไม้จนเกินไป” เพราะด้วยความที่ในพื้นที่มีกลุ่มไม้พะยูงขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นด้านทิศใต้ และเป็นตำแหน่งสูงสุดของที่ดินในลักษณะเนินเขาที่วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ ซึ่งจะช่วยพรางตาจากบ้านใกล้เคียง บ้านจึงถูกรักษาระยะห่างโดยเลี่ยงพื้นที่ดังกล่าวและเลือกพื้นที่โล่งถัดมา ซึ่งมีต้นพะยูงกระจายตัวแบบหลวม ๆ ถึงกระนั้นตัวอาคารยังขยับเข้าใกล้ต้นพะยูงบางต้นเพื่อใช้ร่มไม้บังแดดทิศตะวันตกในช่วงเย็น โดยเป็นการดำรงอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกันตามกฏชีววิทยา

แบบบ้านไม้

บ้านสู้แดดบ่าย

ด้วยรูปทรงของที่ดินที่มีลักษณะยาวตั้งฉากทิศตะวันออก-ตะวันตก ทำให้เจ้าของบ้านมีความต้องการที่จะเปิดมุมมองของบ้านไปทางทิศตะวันตกเป็นหลัก และทิศตะวันออกเป็นรอง ผู้ออกแบบจึงแก้ปัญหาความร้อนในช่วงบ่ายจรดเย็นโดยอ้างอิงตารางการใช้ชีวิตที่สัมพันธ์กับพื้นที่ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้น

ผู้ออกแบบสรุปว่า สมาชิกในบ้านน่าจะใช้ชีวิตในพื้นที่ส่วนกลางเป็นหลักในช่วงเวลาบ่าย จึงออกแบบบ้านสู้แดดบ่าย 2 วิธี คือ หนึ่ง ออกแบบให้ห้องนั่งเล่นสามารถเปิด-ปิดได้ คล้ายศาลา เพื่อรับลมที่พัดผ่านเกือบจะตลอดวันของพื้นที่สันเขา และวางตำแหน่งให้ใกล้ต้นพะยูง เพื่อเป็นกำบังแดดในทิศตะวันตก รวมทั้งเตรียมบ่อน้ำตื้น (reflecting pond) เพื่อดึงความชื้นเข้ามาในอาคาร

แบบบ้านไม้ แบบบ้านไม้

สอง มีการกระจายตัวของพื้นนั่งเล่นในช่วงบ่าย เพื่อให้สมาชิกมีทางเลือกมากกว่าหนึ่ง ทั้งในห้องนั่งเล่น เตียงตาข่ายใต้ต้นไม้ ชานด้านทิศเหนือ หรือแม้แต่ชิงช้าด้านทิศตะวันออก ด้วยการออกแบบนี้เองเสมือนกับเป็นการเสนอพื้นที่ทางเลือก ที่จะเอื้อให้ผู้พักอาศัยที่ปกติจะใช้ชีวิตอยู่ในห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศเป็นส่วนใหญ่จากกรุงเทพฯ สามารถลดการใช้เครื่องปรับอากาศเวลาที่มาพักอาศัยที่บ้านหลังนี้ไปโดยปริยาย

แบบบ้านไม้ แบบบ้านไม้แบบบ้านไม้แบบบ้านไม้

บ้านยกใต้ถุน

ผู้ออกแบบเลือกการยกพื้นสูง เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกันของสัตว์มีพิษ ประจำถิ่นและคนผู้มาใหม่ ทั้งยังเป็นความต้องการของผู้ออกแบบที่จะรบกวนผืนดินและพืชพรรณในพื้นที่ให้น้อยที่สุด ซึ่งข้อดีของการยกพื้นสูงนั้นจะช่วยระบายความชื้นจากผิวดินได้ดีกว่า รวมถึงยังเป็นการเพิ่มพื้นที่ซึมน้ำ และเป็นการทอนรูปทรงอาคารให้ล้อไปตามระดับเนินเขา เพื่อลดการมีตัวตนของอาคารที่จะเป็นรบกวนผู้อยู่อาศัยเดิม

แบบบ้านไม้

บ้านฐานสอง

จากความต้องการด้านพื้นที่ใช้สอยจำนวนมากของเจ้าของบ้าน กอปรกับความต้องการที่จะยกอาคารให้สูงเพื่อเปิดมุมมองรับวิวธรรมชาติให้มากที่สุด ทำให้ผู้ออกแบบจึงแก้ปัญหาทัศนะอุจาด โดยการยกและเว้นระยะของก้อนอาคาร หรือที่ผู้ออกแบบบอกว่าเป็นการ “เติมช่องไฟ” เข้าไปในอาคาร ด้วยระบบ มีกับไม่มี,  0 กับ 1 เพื่อให้ลดความมีตัวตนของงานสถาปัตยกรรมไม่ให้ข่มกับธรรมชาติ ทั้งยังเป็นการให้เกียรติกับผู้ที่มาก่อน บางส่วนของอาคารจึงสามารถเป็นได้ทั้ง 0 และ 1 ตามการปรับเปลี่ยนของผู้พักอาศัย โดยระยะระหว่างเสาโครงสร้างนั้นสัมพันธ์กับความสูง และใช้ระบบโมดูลาร์ในการออกแบบเพื่อให้ช่างก่อสร้างทุกคนนั้นทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้นและไม่ซับซ้อน โดยมิติของความ กว้าง ยาว และสูงอยู่ที่ 3.40 เมตร ในขั้นตอนการออกแบบนั้น ผู้ออกแบบทำการจัดเรียงกล่องขนาด 3.40 เมตร ด้วยระบบ เปิด-ปิด, 0 และ 1 ให้สัมพันธ์กับพื้นที่ใช้สอย และการวิเคราะห์ในมิติต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น

“เราตระหนักดีว่า ต่อให้เราพยายามมากแค่ไหน งานสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ก็ยังมีตัวตนและยังมีผลกับผู้มาก่อนมากบ้าง น้อยบ้าง ซึ่งไม่ว่าอย่างไร อาคารหลังนี้ก็ต้องก่อร่าง ปรากฎรูปขึ้นอย่างแน่นอน แค่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนเท่านั้นเอง แต่คงจะดีกว่าถ้าเรามีเจตนาที่จะรบกวนโลกให้น้อยลงจากการออกแบบของเราเอง”

แบบบ้านไม้


เจ้าของ: Larnroongroj’s Family
ออกแบบและตกแต่ง : TA-CHA Design
สถาปนิกโครงการ: คุณวรัญญู มกราภิรมย์ และคุณ สณทรรศ ศรีสังข์
วิศวกรรมโครงสร้าง: Montien Keawkon
Construction Coordinator: Thanpareeya Satthamnuwong
Décor Stylist : Mylivingroom 
Décor Item : Décor Vivant

เรียบเรียง: ND24
ภาพ: BeerSingnoi 

แบบบ้านโมเดิร์น
KHAO YAI HOUSE บ้านตากอากาศในฝันของชีวิตหลังเกษียณ