อิสรภาพ ดีไซน์สตูดิโอนักเล่าเรื่อง ที่เชื่อในอิสรภาพทางความคิด - room

อิสรภาพ ดีไซน์สตูดิโอนักเล่าเรื่อง ที่เชื่อในอิสรภาพทางความคิด

ตึกแถวสองคูหาย่านเจริญนครได้รับการแปลงโฉมใหม่ให้กลายเป็นบ้านหลังใหญ่ของ อิสรภาพ ดีไซน์สตูดิโอที่สนุกกับการสังเกต และตีความบริบทไทยใกล้ตัว เพื่อบอกเล่าใหม่ผ่านงานออกแบบร่วมสมัย ที่นี่เป็นทั้งสตูดิโอ เวิร์กชอป และพื้นที่จัดแสดงสำหรับการสร้างสรรค์ของพวกเขา

“อิสรภาพ” คือการรวมกลุ่มของ 4 นักออกแบบจาก 3 สตูดิโอ ณิชภัค ต่อสุทธิ์กนก และวนัส โชคทวีศักดิ์ จาก ease Studio ธีรพจน์ ธีโรภาส จาก Kitt-ta-khon และรัฐธีร์ ไพศาลโชติสิริ จาก SATAWAT พวกเขาต่างสวมหมวกหลายใบเพื่อทำงานสร้างสรรค์ในหลายสถานะ แต่ภายใต้ชื่ออิสรภาพ ความเชื่อที่ว่าทุกคนในสังคมมีอิสระทางความคิด ที่นี่คือพื้นที่สำหรับการตั้งคำถาม ทดลองค้นหาคำตอบ และบอกเล่ากระบวนความคิดอย่างไร้กรอบ

ชื่อของอิสรภาพปรากฏในโปรเจ็กต์สร้างสรรค์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลงานออกแบบทั้งที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Anonymous Chair หรือการทำงานร่วมกับ Design Plant รวมไปถึงผลงานการออกแบบนิทรรศการล่าสุด Survival of Craft – 1989 to 2020 ณ  ATT 19 เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่หากย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน บทสนทนานับครั้งไม่ถ้วนกลางร้านกาแฟของพวกเขา คือจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ผลงานชุดแรก Issaraphap Project

จุดเริ่มต้นของอิสรภาพ

รัฐธีร์: ช่วงแรก ๆ เรานั่งคุยกันในร้านกาแฟ เหมือนเป็นสภากาแฟ เราอยากทดลองทำของขายกัน โดยมีแนวคิดที่เกิดจากการสังเกตสิ่งรอบตัว และการออกแบบที่เน้นให้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human-Centered Design) เราเลยเริ่มจากการออกแบบเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราถนัดและคุ้นเคยในตอนนั้น เพื่อเล่ามุมมองของเราให้คนทั่วไปเข้าถึง

ณิชภัค: ตอนนั้นเราทุกคนทำงานออกแบบเพื่อตอบโจทย์เชิงพาณิชย์ บางคนเป็นนักออกแบบในโรงงานเฟอร์นิเจอร์ บางคนทำงานออกแบบที่ต้องตอบโจทย์ลูกค้า ทำให้ผลลัพธ์ของงานออกแบบแตกต่างไปจากสิ่งที่เราอยากนำเสนอด้วยกรอบกำหนดทางธุรกิจ พวกเรารู้สึกตรงกันว่ามีอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้น “ระหว่างกระบวนการออกแบบ” ก่อนที่จะกลายเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งยังไม่ได้รับการบอกเล่า

เราอยากรู้ว่าถ้านำเรื่องราวใกล้ตัวมาเล่าใหม่ผ่านการออกแบบ ควรจะเล่าด้วยวิธีไหน และในภาษาอย่างไร ตัวอย่างเช่น ตอนนั้นเราแชร์ไอเดียกันเรื่อง เก้าอี้พลาสติกที่ใช้ในงานศพ ซึ่งเป็นเก้าอี้โต๊ะจีนต้นทุนต่ำ คนนำมาใช้หรือดัดแปลงเยอะมาก ถึงจะเก่า คนก็ซ่อมเพื่อให้ใช้ได้อีก มันมีคำถามหลายแง่มุม ทั้งเรื่องของความงาม ที่มาของความคิด และการผลิตเพื่อใช้งานจริง เราพยายามมองย้อนกลับไป ว่าพื้นฐานของบรรดาสิ่งที่ธรรมดาที่สุดที่เราคุ้นเคยกัน มันคืออะไร

รัฐธีร์: งานชุดแรกของอิสรภาพมี 12 ชิ้น เราให้ความสนใจกับวิธีคิดมากกว่าเรื่องของความงาม โดยเราจะไม่บอกว่าใครทำชิ้นไหน ให้ดูเหมือนว่าเราออกแบบด้วยกันหมด ตอนนั้นเราเริ่มต้นกันโดยที่ก็ยังไม่มีเงินทุนเลย และได้มีโอกาสไปแสดงกับ Design plant ในงาน TIFF (Thailand International Furniture Fair)

ผลงาน Issaraphap Project ปี 2016 / ภาพ: Issaraphap

ณิชภัค: ตอนแรกเราตั้งใจทำของมาขาย แต่ว่าผลตอบรับที่เกิดขึ้นจากการออกแฟร์ครั้งแรก เราพบว่าคนเข้าใจเนื้อหาใจความที่เป็นจุดเริ่มต้นของคอลเล็กชั่นนั้นได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งที่เรามองว่ามันเป็นประเด็นที่มักถูกมองข้าม มีคนเริ่มกลับมาสนใจของใกล้ตัวอย่างหินขัด บานเกล็ด หรือที่กั้นที่จอดรถมากขึ้น คนเห็นงานรีดีไซน์ของเราแล้วจำได้ว่าของเหล่านี้มาจากอะไร และเขาก็กลับไปให้ความสนใจสิ่งนั้น

รัฐธีร์: เราเห็นโมเม้นต์ของการพูดถึง Street Object มากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่ากระแสจะเกิดขึ้นจากอะไร แต่นี่คือสิ่งที่เราต้องการ เราอยากให้เรื่องธรรมดาใกล้ตัวกลายเป็นเรื่องที่คนหันกลับมาสนใจ ซึ่งปกติเรื่องราวเหล่านี้เกิดในวงการโฆษณาหรือหนังไทยมาเยอะมากแล้ว ในแง่ของงานสถาปัตยกรรมหรืออินทีเรีย เราก็เห็นงานพื้นถิ่นเยอะ แต่บางทีการออกแบบผลิตภัณฑ์บ้านเราก็เหมือนจะเป็นนิยมต่างชาติมากกว่า เช่น สไตล์สแกนดิเนเวียนบ้าง ญี่ปุ่นบ้าง

แต่ตอนนี้ เราเริ่มเห็นนักออกแบบรุ่นใหม่ เริ่มตกตะกอนกับแนวคิดแบบนี้มากขึ้น ไม่ใช่เรื่องของฟอร์มเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของวิธีคิด นึกย้อนกลับไป เราเคยมีอีโก้เยอะมากกับการพยายามทำให้งานดีไซน์สวย โดยทิ้งบทบาทและความเป็นตัวตนของสิ่งนั้นไป แต่มาวันนี้ เราเห็นมิติของของชิ้นหนึ่งมากขึ้น ไม่ได้พูดถึงแค่เรื่องความงาม แต่พูดถึงความสัมพันธ์ของสิ่งนั้นกับบริบทรอบตัวมากขึ้น

จากวันแรกถึงวันนี้ มุมมองที่เติบโตไปพร้อมกัน

รัฐธีร์: ตอนแรกเราพยายามสื่อสารในสองประเด็นหลัก ประเด็นแรกคือเรามองว่าทุกคนในสังคมมีอิสระทางความคิด ซึ่งก็เป็นที่มาของชื่อ “อิสรภาพ” ถ้าเขาสามารถแก้ปัญหากับสิ่งรอบตัวได้ เขาก็น่าจะเป็นนักออกแบบได้เหมือนกัน แม้จะเป็นนักออกแบบที่ใช้สัญชาตญาณในการแก้ปัญหา ต่างจาก “นักออกแบบ” วิชาชีพก็ตาม

ประเด็นที่สองคือ “อะไรคือความเป็นไทย” ในแบบที่ไม่ใช่ไทยเท่ ไม่ใช่ไทยวัง ไม่ใช่ไท๊ยไทย ไม่ใช่ไทยถ่อย ณ วันนั้น เราพยายามหาคำตอบว่าเราจะนิยามถึงความเป็นไทยได้อย่างไร แต่มาถึงวันนี้ กลายเป็นว่าเราไปไกลกว่าการคิดค้นหาความเป็นไทยแล้ว เราไม่จำเป็นต้องคุยกันเรื่องนี้แล้ว เพราะทุกอย่างได้โลกาภิวัฒน์ไปแล้ว จาก Localize กลายเป็น Globalize หมดแล้ว

ถ้าให้กลับไปมองในวันนั้น วิธีคิดของอิสรภาพในเชิง Statement สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปคือเรื่องความเป็นไทย แต่เรายังเชื่อว่าทุกคนมีอิสระทางความคิด มีความเป็นนักออกแบบอยู่ในตัวอยู่

Content-based Design Studio

ณิชภัค: อิสรภาพไม่ได้ตั้งธงไว้ว่าจะทำนิทรรศการเป็นหลัก เรามองแค่ว่านี่คือวิธีการหนึ่งที่จะสื่อสารความคิด เราว่าพวกเราสนใจเรื่องคอนเทนต์ตั้งแต่ก่อนจะมาทำอิสรภาพด้วยกัน เราเลยรู้สึกว่างานออกแบบต้องมีเรื่องเล่า มีที่มาที่ไป ไม่ควรฉาบฉวย เราทำกระบวนการแบบนี้มาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

ธีรพจน์: เราเลือกเรื่องที่จะเล่า และสื่อกลางในการสื่อสารก็จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ คนเล่าเรื่องมีเยอะอยู่แล้ว แต่ก่อนนิทรรศการกึ่งถาวรที่ TCDC ก็ทำโดยคนไทย แต่ก็หายไปเป็นสิบปีแล้ว เราเลยอยากลองเล่าในแบบของเราดู

รัฐธีร์: เราวางตัวเองเป็น Content-based Design Studio เป็นพื้นที่ที่เล่าในสิ่งที่เราอยากเล่า อย่างตอนทำนิทรรศการ belong มันเป็นสิ่งที่นักออกแบบทั่วโลกเห็นกันอยู่แล้ว แต่เราจะเล่ามันอย่างไร เราพยายามหาวิธีการเล่า การเปรียบเทียบ การถ่ายทอดแง่มุมที่น่าสนใจ ดังนั้นด้วยวัตถุดิบเดียวกันแต่ละคนย่อมเล่าต่างกัน ได้ผลลัพธ์คนละแบบ เหมือนที่บอกว่าหนังรักมีแค่ 7 พล็อต ผู้กำกับแต่ละคนก็กำกับได้ไปคนละแบบ ต่อให้เรื่องนี้มีคนเล่ามาแล้วหลายสิบปีก็ไม่สำคัญ สำคัญว่าเราสนใจมันขนาดไหน และมีวิธีการเล่าเรื่องในแบบของเรา 4 คนอย่างไร ซึ่งเราแค่ยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมา แต่ไม่เคยบอกว่านี่คือคำตอบ

นิทรรศการ belong ที่บ้านเหลียวแล ในช่วง Bangkok Design Week 2019 นำเสนอเรื่องราวของเก้าอี้ 50 ตัว ของช่างฝีมือ ผู้อยู่เบื้องหลังงานออกแบบชั้นนำของไทย ที่สะท้อนตัวตนของช่างฝีมือแต่ละท่านได้เป็นอย่างดี

วนัส: เรียกว่าเป็นการชวนคุย เราไม่เคยบอกว่าคุณต้องคิดแบบเรา ไม่เคยบอกว่าเราถูก คุณผิด

รัฐธีร์: อย่างตอนที่ทำนิทรรศการ A Cup of Coffee ที่เชียงใหม่ มันจะมีคนที่มองงานคราฟต์แบบเข้มข้น กับคนที่มองงานคราฟต์อย่างเรา วิธีการตีความก็คนละแบบ ส่วนใหญ่ก็บอกว่าดีใจที่มีคนเห็นมิติอื่นของคราฟต์ ซึ่งแค่นี้เราก็พอใจแล้ว คือมันเกิดการพูดคุยกัน ถ้าไปสังเกตสถาปนิกเมืองนอก เกือบทุกคนเขียนบทความวิพากษ์สังคม พอเป็นเรื่องของวิชาชีพ เราถูกสร้างมาเป็นผู้เชี่ยวชาญในชุดความคิดนี้  ซึ่งเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับคนโดยตรง พอมีการพูดคุยกัน ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงบางอย่าง 

วนัส: เราอยากให้สิ่งที่เราชวนคุยเข้าถึงคนหมู่มากขึ้นเรื่อย ๆ มากกว่าจะพูดกับนักออกแบบด้วยกันเอง  อย่างนิทรรศการ A Cup of Coffee หรือ belong คนก็เข้าถึงมากขึ้น ส่วนตัวผมยังชอบมากที่เราได้ทำเรื่องที่ไม่เหมือนเดิม 

ธีรพจน์: เนื้อหาใจความมันค่อย ๆ ย่อยออกไปเรื่อย ๆ จนไม่ต้องพูดเยอะ แต่ก่อนเรายังเด็ก มีความพยายามเป็นดีไซเนอร์สูง คนที่มาคุยกับเราก็เลยไม่ค่อยจะฟีดแบ็ก แต่พอก้าวเข้าปีที่สาม ปีที่สี่ ก็ไม่ต้องพูดแล้วคนทุกคนเข้าใจได้ บทความในนิทรรศการก็แทบไม่ต้องมีแล้ว

รัฐธีร์: บางทีพอเป็นบทความ เราก็รู้สึกว่ามันไปกรอบความคิดผู้อ่านในระดับหนึ่ง แต่ตอนนิทรรศการ belong จำได้ว่าเราไปสังเกตการณ์ที่บ้านเหลียวแลบ่อยมาก คนที่เข้ามาคุยกับเราจะมีความหลากหลายมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกได้ว่า ขอบคุณมากเลยที่คุณทำให้ผมเห็นค่าเก้าอี้ที่อยู่ในบ้านผม ทั้งที่มันเป็นเก้าอี้คนงานในโรงงาน แต่มันทำให้เขารู้สึกว่าเก้าอี้พัง ๆ ในบ้านที่เข้าไม่เคยเห็นค่า มันคือแมสเสจเดียวกับวันแรกที่เราทำอิสรภาพ เรามองว่าเก้าอี้หินขัด เก้าอี้พัง ๆ มันก็มีคุณค่า มันมีกาลเวลา มีความทรงจำหลาย ๆ อย่าง ตอนแรกเรามีความเชื่อแบบนี้ คนที่ใส่หมวกของดีไซเนอร์นั้นมีคนอยู่ไม่กี่คน แต่พอเราโตขึ้นมา เราพบว่าจริง ๆ ใครใส่หมวกแบบไหนก็ได้ตามสถานการณ์ หรือเราจะเล่าเรื่องอย่างไรก็ได้ 

อิสรภาพ ออกแบบ

จุดหมายปลายทางของ อิสรภาพ

ธีรพจน์: ราก็อยากให้คนทั่วไปเข้าใจว่างานออกแบบคืออะไร แต่เล่าในแง่มุมที่ไม่ได้เชิดชูนักออกแบบ ดีไซน์น่าจะเป็นเรื่องของวิธีคิดมากกว่า

รัฐธีร์: อย่างตอนที่ผมเข้าไปทำงานโรงงานแรก ๆพี่ ๆ ในโรงงานเกรงใจผม ขอให้ผมทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ทั้งที่ผมเป็นเด็กเพิ่งเรียนจบ แต่พี่ ๆ เหล่านั้นทำโรงงานมายี่สิบปี แต่พอผมเข้าไปในตำแหน่งนักออกแบบ ผมกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในสิ่งนี้อย่างมีสถานะทันที ซึ่งประหลาดมาก เพราะผมเคยไปเรียนที่ญี่ปุ่นมาปีหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าทุกเลเยอร์ในสังคมเสมอภาคกัน เพราะทุกคนเชี่ยวชาญไม่เหมือนกัน

แต่ในบ้านเรา ชุดความคิดแบบนี้มันอยู่ในระบบศักดินามานานมากแล้ว ทำอย่างไรให้อาชีพนี้มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงในประเทศ​ในส่วนใดส่วนหนึ่ง การพูดถึง design thinking อาจฟังดูเป็นเรื่องของนักออกแบบ แต่จริง ๆ มันคือเหตุผล ตรรกะพื้นฐานของความเป็นมนุษย์

อีกอย่างที่เราอยากผลักดัน คือนักออกแบบไทยเก่งมาก แต่ไม่ค่อยมีที่ยืนในระดับสากล ซึ่งตอนที่เราทำนิทรรศการของคุณสุวรรณ คงขุนเทียน เราพูดเรื่องนี้ บ้านเราไม่ค่อยเก็บบันทึกในระดับสากลเท่าไหร่ แต่ถ้าวันหนึ่งเราเริ่มทำ และมีคนทำเรื่อย ๆ อีก และถูกเผยแพร่ไปในสเกลระดับโลกเมื่อไหร่ นักออกแบบรุ่นต่อไปก็จะมีโอกาสมากขึ้น

อิสรภาพ

วนัส:จากวันแรกที่เราเชื่อว่าทุกคนเท่ากัน สิ่งที่เราพยายามเพิ่มเข้าไปตลอดคือ นอกจากเท่ากัน เราต้องเคารพซึ่งกันและกันด้วย พวกเรากล้าพูดเต็มปากว่า เราเคารพพี่ ๆ ช่างฝีมือ ไม่ต่างจากครูคนหนึ่ง ไม่ได้อยู่ที่สถานะทางสังคมเป็นอย่างไร แต่เราเชื่อว่าทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน

ธีรพจน์: บางทีเราก็ต้องหยุดพักบ้างเพื่อทบทวนตัวเอง ได้ลองคิด และลองพยายามแก้ปัญหาการออกแบบของตัวเองด้วย เราต้องเริ่มระวังความคิดตัวเอง เราต้องหยุดเล่าบ้าง เพื่อไปรับฟังว่าความคิดเราผิดบ้าง เพราะ ณ วันที่เรามีอีโก้ เราจะนึกว่าเราถูกเสมอ เราก็ต้องถอยออกไปหาประสบการณ์ด้านอื่น เพื่อบอกว่าความคิดเราอาจจะไม่ได้ดีอย่างที่คิดนะ จะได้เห็นโลกในอีกมิติหนึ่ง

วนัส: บางทีความจริงในเวลาหนึ่ง ก็อาจไม่จริงในอีกช่วงเวลา มันไม่ใช่ไม่จริง แค่มันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ

“เรามองว่าทุกคนในสังคมมีอิสระทางความคิด เลยเป็นที่มาของชื่อ อิสรภาพ” – รัฐธีร์

ณิชภัค: เราอยากให้คนเข้าใจว่า “ออกแบบ” คืออะไร ด้วยกระบวนการ ไม่ใช่ด้วยภาพลักษณ์ มีหลายคนที่ไม่เข้าใจว่าเราทำอะไรอยู่ เราว่ามันคือการยอมรับในสังคมว่าสิ่งที่นักออกแบบทำ มีประโยชน์ต่อชีวิตจริง ๆ และพวกเขาสมควรที่จะได้ค่าตอบแทน และการเคารพในวิชาชีพไม่แพ้อาชีพอื่น ทำไมคุณไปหาหมอ คุณยอมจ่ายค่าหมอ 500 บาท แต่พอมาจ้างนักออกแบบคุณไม่ยอมจ่ายค่าออกแบบล่ะ อยากให้เข้าใจว่านักออกแบบใช้เวลาศึกษาพัฒนาตัวเองมานาน เพื่อทำสิ่งหนึ่งที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น 

การที่เราเป็นนักออกแบบมันทำให้เรามีความเข้าใจบางอย่างที่จะไปจัดการกับเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตได้ดีขึ้น เราต้องใช้กระบวนการออกแบบในการจัดการสายงานการผลิตการติดตั้ง ฯลฯ เป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตทั้งต่อผู้อื่น และผู้ออกแบบ แนวคิดนี้ทำให้อิสรภาพยังคงทำงานแบบนี้มาตลอด เพราะทุกครั้งที่เราทำงาน เราก็ได้พัฒนาตัวเอง ได้เข้าใจตัวเอง ได้รู้จักคนอื่น ได้พูดคุย พอแลกเปลี่ยนกันเราก็จะเรียนรู้มากขึ้น ว่าสิ่งที่เราคิดมันมีอีกมิติหนึ่ง 

รัฐธีร์:ทุกครั้งที่เราทำนิทรรศการเสร็จจะบอกว่า ปีหน้าไม่ทำอีกแล้ว….. ผมเหนื่อย….. แต่สุดท้ายพวกเราก็ทำอีกเสมอ (ยิ้ม)

อิสรภาพเพิ่งครบรอบ 5 ขวบไปไม่นาน เวลา 5 ปี ถือว่านานพอ ๆ กับหลักสูตรปริญญาตรีในสาขาด้านการออกแบบ บางทีพวกเขาทั้ง 4 อาจจบปริญญาอีกใบผ่านประสบการณ์จริง ต่อจากนี้ พวกเขายังคงเล่าเรื่อง แต่เป็นเรื่องที่เกิดจากวิธีการตั้งคำถาม และมุมมองที่เฉียบขาด คมคายขึ้นอีกขั้น ติดตามผลงานเรื่องเล่าครั้งใหม่ของพวกเขาได้ในเทศกาลงานออกแบบครั้งต่อไปเร็ว ๆ นี้


เรื่อง: mnsd
ภาพ: ศุภกร / Issaraphap

Anonymous Chair 2017 : “Craft is MAKE” ปริศนาใหม่ของเก้าอี้นิรนาม

BELONG EXHIBITION นิทรรศการแสดง “ที่นั่ง” 50 ตัว ของ “ช่างฝีมือ” คู่ใจนักออกแบบBangkok Design Week 2019