จากตอนแรกที่วางใจให้ คุณวิรัช ปัณฑพรรธน์กุล สถาปนิกจาก RICE POPPER DESIGN STUDIO ออกแบบเพื่อทำการรีโนเวตอาคารพาณิชย์ขนาด 5 ชั้น จำนวน 2 คูหา ริมถนนเทพารักษ์ที่อยู่อาศัยมาตลอดชีวิตให้เป็น แบบบ้านอิฐ สุดโมเดิร์น
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: RICE POPPER DESIGN STUDIO
แต่ระหว่างขั้นตอนการออกแบบ คุณพ่อได้ไปเจอที่ดินผืนหนึ่งในซอยเดียวกันจึงตัดสินใจซื้อแล้วปรับแผนมาเป็นสร้าง แบบบ้านอิฐ เดี่ยวบนที่ดินผืนนี้แทน ส่งผลให้งบประมาณที่ใช้ออกแบบก่อสร้างบ้านหลังนี้จึงเป็นงบก้อนเดียวกันกับงบรีโนเวตในตอนแรก ซึ่งการสร้างใหม่ทั้งหลังต้องใช้งบประมาณมากกว่า
จึงเกิดเป็นบ้านขนาด 3 ชั้น ที่มีพื้นที่ใช้สอย 350 ตารางเมตร โดยสถาปนิกได้ถอดรูปแบบการอยู่อาศัยแบบอาคารพาณิชย์ที่สมาชิกคุ้นเคยมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเสาที่มีความกว้างพอ ๆ กับตึกแถว รูปทรงสี่เหลี่ยมของอาคาร แต่ที่เพิ่มมาเป็นพิเศษคือ “คุณภาพการอยู่อาศัยที่ดีขึ้น” ทั้งในแง่ของการระบายอากาศ และการดึงแสงธรรมชาติ ซึ่งหาได้ยากในอาคารพาณิชย์
“ส่วนไอเดียบ้านนี้ ผมตั้งชื่อบ้านว่า Layers House เพราะมันมีลักษณะเป็นแปลนง่าย ๆ ซ้อนขึ้นไปเหมือนเลเยอร์เค้ก บ้านนี้ซ้อนไป 3 ชั้นปกตินี่แหละ ตรงไหนที่อยากให้โล่งก็เอาออกไป อิฐก็ดีไซน์ง่าย ๆ ซ้อนขึ้นไป ส่วนห้องนอนก็มีหน้าต่างที่มองลงมาได้ เป็นการสร้างความเป็นส่วนตัวกับการเปิดหน้าต่าง จริง ๆ ห้องไม่ได้ใหญ่ขึ้นกว่าตอนอยู่ตึกแถวเดิม แต่มันดีขึ้นกว่าเดิม คุณภาพมันดีขึ้น”
ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณนำไปสู่การเลือกใช้วัสดุที่เรียบง่ายและไม่ต้องการการดูแลรักษามากนัก จึงเลือกใช้คอนกรีตเปลือย ผนังอิฐ และทรายล้าง ที่ใช้เพียงวิธีการเคลือบใสซึ่งสามารถทำเองได้เมื่อต้องการซ่อมแซม ไม่เหมือนกับการทาสีที่หากทาคนละรอบก็มักทิ้งร่องรอยด่าง หรือต้องแก้ไขทั้งผืนผนัง นอกจากเรื่องวัสดุแล้วยังเลือกที่จะเปลือยงานระบบเพื่อง่ายต่อการเซอร์วิสอีกด้วย
อีกหนึ่งประเด็นที่คำนึงถึงคือการเลือกใช้วัสดุ “อิฐ” ในการสร้างสภาวะน่าสบาย ไม่ว่าจะช่วยในการระบายอากาศและป้องกันความร้อนที่เข้าสู่บ้านโดยตรง เนื่องจากหน้าบ้านหันทางทิศใต้ ทั้งฝั่งห้องนั่งเล่นอยู่ในทิศตะวันตกซึ่งเป็นทิศที่รับแดดแรงที่สุดของแต่ละวัน สำหรับฝั่งหน้าบ้านผู้ออกแบบเลือกก่อผนังแบบ Double Skin หรือการก่ออิฐสองชั้น แล้วค่อย ๆ เพิ่มความพรุนให้กับผนังในฝั่งทิศตะวันตกโดยยังคงใช้แพตเทิร์นในการก่ออิฐแบบเดียวกันทำให้ดูต่อเนื่องและสร้างความน่าสนใจได้ไม่น้อยเมื่อมองเข้ามาจากถนน
แม้ว่ารูปแบบของอาคารจะเปลี่ยนไปแต่รูปแบบการใช้ชีวิตอย่างที่เคยชินและความสัมพันธ์ของทุกคนในครอบครัวยังคงอยู่ เพราะสถาปนิกได้ถอดรหัสความเคยชินเหล่านั้นออกมา แล้วถ่ายทอดลงไปบนสถาปัตยกรรมชิ้นใหม่นี้ได้อย่างแยบยล จนแทบลืมไปเลยว่าการใช้ชีวิตภายใต้อาคารพาณิชย์ที่ไม่ได้สัมผัสสายลม แสงแดดนั้นเป็นอย่างไร
เรื่อง: foryeah!
ภาพ: Soopakorn