เอฟ.วี คาเฟ่กึ่งแกลเลอรี่ย่านทรงวาด ที่มีเรือนไทยอีสานกลางตึกแถว - room

เอฟ.วี คาเฟ่กึ่งแกลเลอรี่ย่านทรงวาด ที่มีเรือนไทยอีสานกลางตึกแถว

เอฟ.วี (F.V) ตั้งอยู่ในตึกแถวย่านทรงวาด ที่นี่คือคาเฟ่กึ่งแกลเลอรี่ที่ไม่ลับแต่ซับซ้อนและน่าค้นหามากที่สุดแห่งหนึ่งในย่านนี้ ด้วยแนวความคิดที่จะพัฒนาต่อยอด “สิ่งที่ไม่มีใครต้องการหรือมองข้าม” อย่างทรัพยากรจากผืนดิน น้ำ หรือพืชพรรณธัญญาหารของไทย เพื่อสร้างสรรค์ความเป็นไปได้ใหม่ พร้อมสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และเป็นส่วนหนึ่งของรากฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน

.
เอฟ.วี
เอฟ.วีต้องการให้ร้านตั้งอยู่ในชุมชนอย่างกลมกลืนหน้าร้านจึงออกแบบเรียบง่ายที่สุดโดยใช้เพียงกระจกใสและคอนกรีตเปลือย

แนวคิดการก่อตั้ง เอฟ.วี เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2559 หรือในช่วงหลังการเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้คุณโอภาส จันทร์คำ เจ้าของโครงการต้องการที่จะสานต่อความดี และทำให้ที่นี่กลายเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาความยั่งยืนให้เเก่ประเทศไทย จากความตั้งใจนี้ได้รับการส่งต่อให้กับทีมบริหารโครงการที่หวนกลับไปพิจารณาถึงทรัพยากรอันล้ำค่าในบ้านเรา นั่นก็คือดิน น้ำ และพืชพรรณธัญญาหารทั้งหลาย ที่แม้จะสำคัญมากขนาดไหน แต่ทรัพยากรเหล่านี้กลับถูกเพิกเฉยด้านการให้คุณค่า จึงเป็นที่มาของแนวคิดการออกแบบ “UNWANTED” ที่พยายามดึงสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่มีใครต้องการกลับมาสร้างคุณค่าให้กับตัวเองและชุมชนต่อไป

เอฟ.วี
มุมมองจากหน้าร้านเข้าไปจะเห็นเป็นทางเดินที่เสมือนการเดินผ่านใต้ถุนบ้านเพื่อออกไปยังลานบ้านที่ตั้งใจออกแบบให้เป็นพื้นที่นั่งและจัดกิจกรรมต่าง ๆ
เอฟ.วี
เคาน์เตอร์ทำจากแผ่นสเตนเลสสตีลหนา 6 มิลลิเมตรที่ถูกพับขึ้นรูปภายใต้แนวคิดการออกแบบที่ต้องการให้เหลือเศษวัสดุน้อยที่สุดนอกจากนั้นทุกชิ้นยังสามารถถอดประกอบและย้ายได้ เช่นเดียวกับเรือนไทยอีสานภายในร้าน

F.V หรือ Fruit and Vegetable คือชื่อของร้านที่ต้องการแสดงถึงความตรงไปตรงมาเพื่อสื่อถึงผลิตภัณฑ์ผ่านการตั้งใจเลือกสรรพืชพรรณต่าง ๆ ที่ดีต่อสุขภาพ ทั้งผัก และผลไม้ที่หาได้ทั่วไปตามฤดูกาลมาสร้างคุณค่า และความหมายในรูปแบบที่ตอบโจทย์ ไลฟ์สไตล์ผู้คนยุคปัจจุบัน ผ่านการวิจัยอย่างเป็นระบบและได้มาตรฐาน เพื่อให้ได้สัดส่วนของส่วนประกอบที่มีประโยชน์ต่อร่างกายลูกค้า โดยมีเมนูยอดฮิตอย่างชาไมยราบ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยให้หลับสบาย และมะกรูดเชื่อม สมุนไพรขึ้นชื่อของไทยที่มีกลิ่นหอมชวนผ่อนคลาย นอกจาก 2 เมนูนี้เเล้วยังมีเครื่องดื่ม และขนมต่าง ๆ อีกหลายเมนูทั้งชื่อที่คุ้นเคยและแปลกหูให้ลองเลือกรับประทาน

เอฟ.วี
ขนมและเครื่องดื่มของทางร้าน นอกจากสามารถมารับประทานที่ร้านได้แล้ว ยังสั่งแบบเดลิเวอรี่ได้ทุกเมนู ซึ่งทางร้าน ตั้งใจไม่ใช้พลาสติกห่ออาหารเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในสิ่งแวดล้อม

นอกจากที่มาของร้านและเมนูน่าสนใจแล้ว เรื่องของที่มาด้านการออกแบบและตกแต่งร้านก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เริ่มตั้งแต่การเลือกที่ตั้งให้อยู่บนทำเลที่สื่อสารตัวตนได้ชัดเจนที่สุดอย่างบนถนนทรงวาด ซึ่งมีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยบ้านเรือนตลอดแนวถนนล้วนแต่เคยเป็นโกดังร้านค้าเก็บพืชพันธุ์ทางการเกษตร อย่างข้าว ธัญพืช เมล็ดพันธุ์ และสมุนไพรแห้ง ที่ขนส่งมาทางเรือ ตัวร้านจึงเป็นตึกเก่าอายุร่วมร้อยปี มีกลิ่นอายของชุมชนชาวจีนอย่างเข้มข้น วัสดุเดิมของอาคารเป็นอิฐมอญ ที่ไม่สามารถรับน้ำหนักด้านโครงสร้างได้มากนัก ทีมบริหารและสถาปนิกโครงการนำโดย คุณธารญา อันรเสน จึงเห็นพ้องกันว่าจะรีโนเวตอาคารนี้เสียใหม่เฉพาะส่วนที่จำเป็นเท่านั้น อาทิ โครงสร้างอาคารที่มีผลต่อความปลอดภัย ด้วยการเพิ่มเหล็ก I-Beam เข้าไปในผนังจำนวน 6 ต้นทำหน้าที่รับน้ำหนักของชั้นลอยและหลังคาที่ทำใหม่ จากนั้นฉาบปิดด้วยปูนเปลือย เหลือสีเขียวเดิมของผนังและสีแดงของพื้นเดิมบางส่วนไว้เพื่อคงบรรยากาศเดิม ๆ ของย่านการค้าแห่งนี้

เอฟ.วี
ลูกค้าสามารถนั่งได้ทั้งบริเวณด้านล่างและบนเรือนไทยอีสานที่ถอดและประกอบขึ้นใหม่ทุกชิ้นโดยไม่ใช้ตะปูหรือวัสดุสมัยใหม่แม้แต่ชิ้นเดียว นอกจากนั้นยังนำต้นแจงเข้ามาปลูกเพื่อสร้างบรรยากาศอบอุ่นและคุ้นเคยให้กับสถานที่
เอฟ.วี
พื้นที่มัลติฟังก์ชันสามารถจัดกิจกรรมและนั่งรับประทานอาหารได้เปรียบเสมือนลานบ้าน ผู้ออกแบบตั้งใจให้แสงธรรมชาติผ่านเข้ามาทางสกายไลต์เพื่อสร้างบรรยากาศเหมือนนั่งพักผ่อนที่ลานบ้านจริง ๆ รอบ ๆ จัดวางเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งหลากหลายสไตล์เพื่อสร้างประสบการณ์การรับรู้อันหลากหลาย
เอฟ.วี
บันไดเหล็กพับมีโครงสร้างซ่อนอยู่ในผนัง โดยผนังด้านบนของบันไดจะมีความบางกว่าผนังส่วนล่างของบันไดที่ยื่นออกมา มากกว่า จึงสามารถใช้ประโยชน์จากใต้บันไดสำหรับเก็บของได้

เมื่อเรื่องของโครงสร้างอาคารลงตัวแล้ว ลำดับถัดมาคือการสร้างเอกลักษณ์ให้ร้านด้วยแนวคิดการออกแบบว่าด้วย “การแต่งงานของหนุ่มชาวจีนกับสาวไทบ้านอีสาน” แทนหนุ่มจีนเป็นตึกที่ตั้งอยู่บนถนนทรงวาดส่วนสาวไทบ้านอีสานเป็นบ้านไม้เก่าจากบ้านโนนยาง จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็น “UNWANTED” ที่ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ โดยให้ช่างฝีมือในชุมชนช่วยรื้อถอนและเลือกเฉพาะไม้ที่ยังใช้ได้มาประกอบใหม่ทั้งหลังในตึกแห่งนี้ ด้วยการใช้ลิ่มไม้และการเข้าไม้แบบดั้งเดิม โดยไม่ใช้ตะปูแม้แต่ตัวเดียวเพื่อคงรูปแบบและคุณค่าของเรือนไม้ให้เหมือนเดิมได้มากที่สุด โดยตั้งใจเก็บซุ้มประตูคอนกรีตโค้งที่อยู่ตรงกลางของโกดังไว้เพื่อให้สอดทะลุเรือนไม้ขึ้นมากลางบ้านเป็นสัญลักษณ์ของชายหญิงที่ได้กลายเป็นของกันและกันแล้ว นอกจากนั้นผู้ออกแบบได้ติดตั้งไฟแอลอีดีแบบเส้นฝังไว้ในผนังอาคารตลอดแนว เป็นตัวแทนของสายสิญจน์มงคลสำหรับการแต่งงานของหนุ่มชาวจีนกับสาวไทบ้านอีสานว่าได้รวมกันเป็นหนึ่งเดียวอย่างสมบูรณ์แล้วนั่นเอง

ผนังเรือนไทยอีสานชั้น 2 เป็นผนังขัดแตะ2 ชั้น ซ่อนแผงไฟแอลอีดีไว้ตรงกลางและกรองแสงด้วยกระดาษไขโฟโต้ที่นำเข้า จากอังกฤษ เพื่อเลียนแบบแสงธรรมชาติในตอนกลางวัน

จากเรือนไทยอีสานสู่พื้นที่ผสานฟังก์ชัน

ที่นี่ตั้งใจสร้างประสบการณ์ในการเข้าถึงเป็นสำคัญ โดยอิงจากฟังก์ชันของ “เรือนไทยอีสาน” แต่นำมาผสมผสานเข้ากับฟังก์ชันที่จำเป็นของคาเฟ่ เริ่มตั้งแต่วางตำแหน่งเคาน์เตอร์บริเวณหน้าร้านซึ่ง เสมือนเป็นหน้าบ้านของเรือนไม้ แล้วจึงเดินผ่าน “ใต้ถุน” บ้านที่ถูกออกแบบให้เป็นครัวและห้องน้ำซึ่งเป็นตำแหน่งห้องน้ำเดิมของอาคารเพื่อความสะดวกในด้านงานระบบ จากนั้น จึงถึงส่วนพื้นที่มัลติฟังก์ชัน โดยเปรียบให้เหมือนพื้นที่ส่วน “ลานบ้าน” ที่สามารถเป็นได้ทั้งที่นั่งและส่วนแสดงงานศิลปะ หรือจัดมินิคอนเสิร์ตได้ในเวลาเดียวกัน เพื่อให้ร้านเป็นมากกว่าคาเฟ่ทั่วไป แต่ยังเป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างประโยชน์ให้ชุมชนได้ด้วย

ฝ้าเพดานเลือกกรุด้วยแผ่น Acrylic Mirror หนา 1 มิลลิเมตรเนื่องจากมีน้ำหนักเบากว่ากระจกและสามารถให้Imperfect Reflectionสะท้อนดีไซน์หลังคาแป้นไม้ของบ้านไทยอีสานเพื่อสร้างการรับรู้ในมุมมองมิติอื่น ๆ ให้กับลูกค้า

นอกจากคุณค่าทางงานสถาปัตยกรรมที่เอฟ.วีได้คืนชีวิตได้อย่างดีเยี่ยมแล้ว ที่นี่ยังสร้างให้เกิดวงจรวิถีไทยในรูปแบบใหม่อย่างการสร้างความตระหนักให้เกษตรกรเห็นคุณค่าของทรัพย์ในดินที่ตนเองมี จนเกิดเป็นผลผลิตอย่างผัก ผลไม้ และสมุนไพรต่าง ๆ ที่สามารถสร้างรายได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยพืชพันธุ์เหล่านี้มี เอฟ.วีคอยทำหน้าที่เป็นสื่อกลางช่วยพัฒนาและต่อยอดจนกลายเป็นอาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ให้กับลูกค้าต่อไป

 

ที่ตั้ง
827 ถนนทรงวาด แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ

เปิดทุกวัน 10.00 น. – 19.00 น.

โทร. 08-1866-0533

www.facebook.com/fvbkk

—-

เจ้าของ คุณโอภาส จันทร์คำ

ทีมบริหาร คุณพัชรกันย์ โรจน์วัชราภิบาล, คุณสุจิตรา เลิศล้วน เเละคุณวงศพล ลิ้มสิทธิสุข

ออกแบบ คุณธารญา อันรเสน

เรื่อง Ektida N. ภาพ ศุภกร สไตล์ วรวัฒน์ ตุลยทิพย์


สั่งซื้อ room ฉบับ 192 (ส.ค.-ต.ค.63) กับ Issue “HYBRID SPACE”

KEPLER BKK x RICE ROOM CANTEEN การพบกันของคาเฟ่และร้านข้าวแกงในสไตล์มิดเซนจูรี่