“บ้านลำพูน” บ้านพักอาศัย 2 ชั้น ขนาด 260 ตร.ม. ที่ได้รับการออกแบบด้วยกลิ่นอายแบบ บ้านนอร์ดิก และสร้างบนที่ดินเปล่าผืนหนึ่งในจังหวัดลำพูน บริบทรอบที่ดินคือบ้านของคุณแม่ และญาติ ๆ ที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกัน ดังนั้นเมื่อตัดสินใจจะสร้างบ้าน ทางเจ้าบ้านจึงต้องการให้บ้านสามารถเชื่อมต่อ และรองรับกิจกรรมกับบ้านคุณแม่ที่อยู่ติดกันได้ด้วย
เมื่อมีโจทย์สำคัญอย่างการสร้างพื้นที่ส่วนกลางระหว่างสมาชิกในครอบครัว ทางสถาปนิกจึงกำหนดให้พื้นที่ด้านซ้ายของบ้านซึ่งเป็นทิศเหนือให้เป็นสระว่ายน้ำและชานบ้าน โดยมีสวนและทางเดินเล็ก ๆ ตัดผ่านไปยังบ้านของคุณแม่ที่อยู่ติดกันได้สะดวก
บนชั้น 1 เป็นพื้นที่ห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ส่วนกลาง ที่ออกแบบให้มีลักษณะ โอเพ่นแปลน (open plan) ประกอบด้วยโถงบันได พื้นที่นั่งเล่น แพนทรี่ และส่วนรับประทานอาหาร ซึ่งบริเวณนี้ออกแบบให้มีฝ้าเพดานสูงเป็นดับเบิ้ลวอลุ่มเพื่อความโปร่งโล่ง
สถาปนิกดึงศักยภาพของโครงสร้างเหล็กมาใช้อย่างเต็มที่ จึงทำให้พื้นที่ส่วนกลางภายในบ้านโปร่งโล่ง และสบายสายตา โดยไม่มีเสาและคานขนาดใหญ่มาบดบังมุมมองตลอดระยะความกว้าง 7.6 เมตร ซึ่งช่วยให้พื้นที่ดับเบิ้ลวอลุ่มสร้างสเปซ ที่เชื่อมต่อการใช้งานทั้งชั้น 1 และ 2 ของบ้านเข้าด้วยกัน เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว ทั้งยังสามารถรับแสงธรรมชาติจากทิศเหนือตลอดทั้งวัน
ครัวไทยอยู่ด้านหลังแพนทรี่ และจัดวางพื้นที่ใช้สอยส่วนเซอร์วิสอย่างห้องเก็บรองเท้า ห้องซักรีดไว้ทางทิศใต้และทิศตะวันตก และวางตำแหน่งห้องเก็บของไว้ทางหน้าบ้าน โดยก่อเป็นผนังทึบไม่มีช่องเปิด เนื่องจากทางด้านนี้จะติดกับถนนในซอยและมีระยะค่อนข้างกระชั้นกับรั้วบ้าน การออกแบบเช่นนี้จึงเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวและให้ฟังก์ชันเป็นกันชน ทั้งในเรื่องเสียงรบกวน ความร้อนและการมองเห็นจากภายนอก
การตกแต่งภายในชั้น 1 จะเน้นที่ความเรียบง่าย โดยเน้นสีขาวและสีที่มีจากวัสดุเป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายและสร้างความรับรู้ว่ากำลังเข้าสู่พื้นที่พักผ่อนที่แตกต่างจากภายนอก เนื่องจากภายนอกจะใช้เป็นสีโทนเข้ม ผนังส่วนใหญ่ภายในบ้านจึงเป็นสีขาวทั้งหมด และมีบางส่วนที่เป็นผนังคอนกรีตที่ก่อด้วยเทคนิคการหล่อในที่โดยใช้เหล็กเป็นแม่แบบ โดยสีเทาที่เกิดจากคอนกรีตและผิวสัมผัสที่ไม่เนี้ยบตามธรรมชาติของวัสดุนั้นกลับเพิ่มเสน่ห์ให้กับบ้านอย่างน่าสนใจ เสริมด้วยการติดตั้งไฟส่องสว่างแบบ track light ในลักษณะ uplight เข้ากับผนังเพื่อให้ผนังสีขาวทำหน้าที่กระจายแสง ลดการติดตั้งไฟส่องสว่างไปได้หลายตำแหน่งโดยไม่จำเป็น
ถัดมาเป็นพื้นที่ชั้น 2 ที่จะถูกส่งขึ้นมาจากโถงบันไดและมีสะพานที่ทำหน้าที่เชื่อมพื้นที่ใช้สอยเอาไว้ด้วยกัน โดยทางหน้าบ้านถูกกำหนดให้เป็นห้องนอนใหญ่ ส่วนอีกฝั่งของสะพานซึ่งเป็นทางด้านหลังจะเป็นห้องนอนเล็ก ห้องนั่งเล่น ห้องทำงาน และห้องน้ำ ส่วนการตกแต่งจะเน้นเป็นเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวเป็นหลัก แต่จะเน้นการสร้างบรรยากาศที่เหมาะสำหรับการพักผ่อน อย่างการกรุพื้นด้วยกระเบื้องยางลายไม้ที่มีสีสันและผิวสัมผัสเสมือนไม้ สร้างความรู้สึกอบอุ่นเป็นกันเองให้กับพื้นที่
ภายในห้องนอนใหญ่ สร้างให้เกิดเป็นสเปซพิเศษด้วยการกรุไม้เทียมไปตามแนวลาดเอียงของหลังคาที่ยังได้เชื่อมต่อออกไปยังระเบียงห้องนอน ทำให้เมื่อมองเข้ามาจากหน้าบ้าน จะเห็นเหมือนระเบียงถูกดันเข้าไปกลายเป็นส่วนหนึ่งของบ้านได้อย่างสวยงามลงตัว
สถาปนิกถอดเส้นสายงานสถาปัตยกรรมสไตล์นอร์ดิกมาตีความใหม่ ด้วยการออกแบบให้บ้านมีรูปทรงจั่วที่ทอนชายคาออก เน้นจังหวะ และขนาดของช่องเปิดให้สวยงาม พอดีกับวัสดุกรุผิวเมทัลชีต หากมองจากภายนอกทั้งตำแหน่งจากหน้าบ้านหรือจากสระว่ายน้ำไปยังตัวบ้าน จะพบว่าเส้นแนวตั้งของบ้านทั้งหมดจะประสานกันเป็นหนึ่งเดียว ไม่ว่าจะเป็นเส้นแนวตั้งของรั้ว เส้นวงกบประตู-หน้าต่าง เส้นของเสา ตลอดจนแผ่นเมทัลชีต ซึ่งทุกเส้นสายเหล่านี้ถูกคิดมาเป็นอย่างดี และทดลองอยู่นานกว่าจะออกมาเป็นงานออกบ้านที่มีความสวยงาม เรียบร้อยและพอดีในทุกองค์ประกอบ
——-
เจ้าของ: คุณพณิชย์ พลมณี
ออกแบบ: 𝗯𝗹𝗮𝗻𝗸𝘀𝘁𝘂𝗱𝗶𝗼 โดยคุณอุกฤษฏ์ บวรสิน และคุณทักษพร ศรีประดิษฐ์
ออกแบบโครงสร้าง: คุณพิลาวรรณ พิริยะโภคัย
เรื่อง: ektida n
ภาพ: PanoramicStudio