SAWO RONTGEN คาเฟ่โปร่งแสงบนสนามหญ้าหน้าบ้าน - room

SAWO RONTGEN คาเฟ่โปร่งแสงบนสนามหญ้าหน้าบ้าน

SAWO RONTGEN สาขาล่าสุดของ Sawo Coffee & Roastery แบรนด์คาเฟ่ในเมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย สาขาใหม่นี้ตั้งอยู่บนสนามหน้าบ้านหลังกะทัดรัดในย่านพักอาศัยบนถนน Rontgen ซึ่งชื่อถนนแห่งนี้ได้กลายเป็นที่มาของแนวคิดหลักในการออกแบบ

Röntgen หมายถึงการเอ๊กซเรย์ (X-ray) ตามชื่อของศาสตราจารย์เรินต์เกนผู้ค้นพบรังสีเอ๊กซ์ จากชื่อถนนที่ตั้งนำมาสู่แนวคิดการออกแบบคาเฟ่ขนาดเล็กด้านหน้าบ้าน ให้มีรูปลักษณ์โปร่งแสงไม่ต่างจากการเอ๊กซเรย์

หลังจากทีมออกแบบได้ทำการศึกษาค้นคว้าวัสดุโปร่งแสงรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์แนวคิดการออกแบบในที่สุด บล็อกแก้ว และกระจกกัดกรด จึงถูกใช้เป็นวัสดุหลัก โครงสร้างผนังบล็อกแก้วบนสนามด้านหน้าบ้านดูคล้ายกล่องสี่เหลี่ยม ที่ช่วยกำหนดขอบเขต และสร้างเส้นแบ่งให้ส่วนคาเฟ่โดยเฉพาะ ส่วนกระจกกัดกรดมีผิวสัมผัสซาตินเป็นเหมือนผิวภายนอกของคาเฟ่ที่ห่อหุ้มองค์ประกอบต่าง ๆ ของบ้านเดิมไว้ ทำให้เกิดเลเยอร์ใหม่ดูน่าสนใจบนเปลือกอาคารเก่า โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรมาก

วัสดุบล็อกแก้ว และกระจกกัดกรด สร้างความขัดแย้งอย่างลงตัวกับทั้งโครงสร้างอาคาร และธรรมชาติรอบข้าง นำไปสู่รูปลักษณ์ความโปร่งแสงสลับโปร่งใสในหลากหลายรูปแบบอย่างที่ทีมออกแบบตั้งใจ ส่วนโครงสร้างหลักใช้เหล็ก H-beam ชุบกัลวาไนซ์ ปล่อยเปลือยเปล่าโชว์ผิวสัมผัส เมื่ออยู่เบื้องหลังผิวโปร่งแสงของบล็อกแก้วและกระจก จึงเปรียบได้กับภาพเอ๊กซเรย์ที่ปรากฎเลเยอร์ของผิวหนัง และโครงกระดูก

เมื่อเข้ามาภายในคาเฟ่จะพบเคาน์เตอร์กาแฟสีขาวเฉียบเรียบ ซึ่งเป็นซิกเนเจอร์ของ Sawo Coffee คอยบริการเสิร์ฟกาแฟก่อนที่ลูกค้าจะเข้ามาโซนที่นั่งด้านใน เซอร์ไพร้ส์กับที่นั่งเอ๊าต์ดอร์วงกลมที่ซ่อนอยู่ในกล่องบล็อกแก้ว รูปทรงวงกลมนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากโลโก้ของแบรนด์ ซึ่งรูปทรงที่โดดเด่น และสมมาตรนี้ทำให้เกิดบรรยากาศที่สงบ สร้างบทสนทนาเรียบง่ายระหว่างผู้ใช้งานกับสถาปัตยกรรม ส่วนด้านข้างมีบันไดเหล็กที่นขึ้นำไปสู่ห้องชั้นบนที่มีที่นั่งแบบอินดอร์

หัวหน้าทีมออกแบบ: Salman Rimaldhi, Dhanie Syawalia (dhaniesal.com)
สถาปนิก: Ferdio Ariatama
ออกแบบกราฟิก: Nusae
ออกแบบแสงสว่าง: Erreluce (erreluce.net)

ภาพ: KIE (kiearch.com)
เรียบเรียง: psuw

_____________________________________________________________

THE ARTISANS AYUTTHAYA กับพันธกิจสืบทอดสูตรอาหารหากินยากให้คงอยู่