Thingamajiggy Coffee Roaster คาเฟ่พื้นถิ่นขนาดกะทัดรัด ตั้งอยู่บนเนินคันนา รูปทรงอาคารตีความดีไซน์จากยุ้งข้าวพื้นถิ่นทางเหนือ พื้นที่ส่วนกลางใช้วัสดุหาง่ายในพื้นที่อย่างไผ่ ทำเป็นโครงสร้างชั่วคราวคลุมไม้ยืนต้นที่รอวันเติบโต
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: YANGNAR STUDIO
Thingamajiggy Coffee Roaster ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยทราย อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ตัวอาคารขนาด 3×7 เมตร ได้แรงบันดาลใจจากยุ้งข้าว หรือหลองข้าว จุดเริ่มต้นไอเดียการออกแบบมาจากการเดินทางไปในที่ต่าง ๆ ทางตอนเหนือของไทย และไปเยือนเชียงตุงของสถาปนิก จนออกมาเป็นร้านกาแฟภาษาเรียบง่าย มีพาวิเลียนหลังคาไผ่เป็นส่วนเชื่อมระหว่างอาคาร เน้นใช้วัสดุหาง่าย รวมถึงเทคนิควิธีที่ไม่ซับซ้อน กลมกลืนไปกับธรรมชาติ
ไอเดียจากยุ้งข้าว
รูปแบบอาคารเริ่มจากสถาปนิก คุณเท่ง-เดโชพล รัตนสัจธรรม แห่ง Yangnar Studio ออกเดินทางไปที่เมืองเชียงตุง ประเทศเมียนมาร์ แล้วเกิดความสนใจในอาคารยุ้งข้าวเก่าในแถบนั้น หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่าหลองข้าว เมื่อได้รับโจทย์จากเจ้าของโครงการที่ต้องการทำร้านกาแฟบนเนินคันนาของตัวเอง ด้วยความต้องการคุมงบประมาณ จึงนำรูปแบบอาคารมาถอดดีไซน์จนเกิดเป็นอาคารร้านกาแฟขนาดกะทัดรัดในไซซ์ 3×7 เมตร ที่มีฟังก์ชันบาร์กาแฟ ห้องอบเบเกอรี่ ส่วนตัวอาคารมีสองฝั่ง ตั้งอยู่ตรงข้ามกัน เป็นส่วนบาร์กาแฟ ห้องอบเบเกอรี่ในทิศใต้ และอาคารห้องน้ำในทิศเหนือ
สถาปัตยกรรมที่เติบโตไปตามกาลเวลา
เจ้าของโครงการตั้งใจใช้พื้นที่บริเวณร้านปลูกต้นไม้ท้องถิ่น รอให้เติบโตไปตามกาลเวลา ให้ต้นไม้ทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของตัวร้าน และเป็นส่วนสำคัญของพื้นที่ ผู้ที่เข้ามาใช้งานพื้นที่ก็จะได้รับรู้บรรยากาศของร้านที่ต่างออกไป ตามการเติบโตของต้นไม้ เรียกได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่จะเติบโตไปพร้อมกับธรรมชาติ
โครงหลังคาส่วนกลางใช้ไม้ไผ่
ลานสนามหญ้าตรงกลางพื้นที่ สถาปนิกออกแบบให้เป็นเหมือนพาวิเลียน หรือศาลาส่วนกลาง ที่ใช้ไผ่มาทำเป็นโครงสร้าง เชื่อมระหว่างตัวร้านฝั่งทิศใต้ และห้องน้ำฝั่งทิศเหนือ ให้มีแสงรำไรลอดผ่าน ไม่จำเป็นต้องบังแดดฝนได้เต็มที่ แต่ตั้งใจให้เป็นเหมือนโครงสร้างชั่วคราว ที่ใช้ไผ่จากในพื้นที่ใกล้เคียง ที่ไม่อาบน้ำยา ใช้งานตามธรรมชาติของอายุ โดยตั้งใจให้อยู่ได้ประมาณ 2-3 ปี ทำด้วยขั้นตอน วิธีการที่เรียบง่าย ใช้มีด พล้า สว่าน มุยหรือขวานเชียงใหม่ โดยช่างฝีมือชาวบ้าน เมื่อไผ่หมดอายุใช้งาน ก็เปลี่ยนใหม่โดยใช้วัสดุเดิมที่หาได้ง่ายในพื้นที่ใกล้เคียง
ใช้ช่างท้องถิ่น
เทคนิควิธีการสร้าง Pavilion ใช้ไผ่ซางหม่นหุ้มขาด้วยพลาสติก ตอกฝังลงไปในพื้นดิน ขึ้นรูปด้วยเทคนิคการมัดด้วยวิธีดั้งเดิม ในสมัยก่อนชาวบ้านจะใช้การตอกไม้ แต่ทางทีมพัฒนาเทคนิคการทำด้วยเชือกอวนทำโดยช่างฝีมือชาวลีซอในท้องถิ่น ด้านบนของโครงไผ่ขึงด้วยสแลนการเกษตรทำให้เกิดเป็นแผ่นกรองแสงสร้างร่มเงาที่มีแสงลอดผ่านรำไร เป็นร่มชั่วคราวคลุมสนามหญ้าระหว่างอาคาร ซึ่งสถาปนิกตั้งใจให้รื้อถอนได้เมื่อไผ่หมดอายุการใช้งานไปตามธรรมชาติ และสร้างขึ้นใหม่ให้รองรับกับต้นไม้ยืนต้นที่จะเติบโตขึ้น
ที่ตั้ง
Thingamajiggy Coffee Roaster
ถนนทางหลวงชนบท ชม. 3009 ตำบลห้วยทราย อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
พิกัด https://maps.app.goo.gl/mHUcJU7asqpPByZj7
เปิดทุกวัน 9.00 – 17.00 น.
โทร. 09-9145-5642
ออกแบบสถาปัตยกรรม : Yangnar Studio
Lead Architect : Dechophon Rattanasatchatham
ที่ปรึกษาด้านโครงสร้าง : Rungroj Tansukanun, Metee Moonmuang
รับเหมาก่อสร้าง : Yangnar studio builder team, Yaiwood
เรื่อง : Nattwat Klysuban
ภาพ : Rungkit Charoenwat
อ่านงานสถาปัตยกรรมกลิ่นอายพื้นถิ่นอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่นี่
Nhà Bè House บ้านอิฐแดง พื้นถิ่น เวียดนาม ผสานบรรยากาศธรรมชาติ
NAYA CAFE AYUTTHAYA คาเฟ่ อิฐรับวิวทุ่งนา พาให้เห็นวิถีชุมชนชนบท
BAAN NOI DOI HANG บ้านต่างจังหวัด ฟังก์ชันพอดีสำหรับใช้ชีวิต และทำงานจากบนดอย