ศูนย์วิจัยข้าวล้านนา ออฟฟิศ ริมทุ่งนา ที่ออกแบบอย่างถ่อมตน - room
Office-rice-local-chiangmai

ศูนย์วิจัยข้าวล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออฟฟิศริมทุ่งนา ที่ออกแบบอย่างถ่อมตน

ศูนย์วิจัยข้าวล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาคารที่รองรับกิจกรรมการทำงานของคนที่หลากหลาย ตั้งแต่นักวิจัยพันธุ์ข้าวในห้องแล็บ พนักงานในออฟฟิศ และชาวนาที่มาติดต่อ ส่งมอบเมล็ดพันธุ์ หรือใช้ลานอเนกประสงค์เป็นลานตากข้าว

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Hanabitate Architect

ศูนย์วิจัยข้าวล้านนา แห่งนี้ เป็นการออกแบบที่สถาปนิกจาก Hanabitate Architect ต้องทำความเข้าใจ และโอบรับผู้ใช้งานเข้าเป็นส่วนหนึ่งโดยไม่ทิ้งใครเอาไว้ เพื่อให้อาคารถูกใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตามที่ตั้งใจ

ศูนย์วิจัยข้าวล้านนา คือ พื้นที่ทำงานวิจัยพันธุ์ข้าวพื้นเมืองภาคเหนือ เพื่อให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ และต่อยอดให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงพัฒนาข้าวสายพันธุ์บนดอยที่มีความแข็งแรง ลงมาใช้ปลูกในพื้นที่ราบ เป็นหน่วยงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ออกแบบเป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นล่างเปิดโล่งแบบใต้ถุน ส่วนชั้นบนเป็นโซนสำนักงาน และห้องทดลองของนักวิจัย

วางอาคารตามวิถีคนปลูกข้าว

ผังอาคารออกแบบจากพฤติกรรมของผู้ใช้งานจริง คือ ชาวนาที่ต้องขับรถแทร็คเตอร์เข้ามาติดต่อ ก็ยกอาคารชั้นล่างให้สูงโปร่งเป็นที่จอดรถได้ ชั้นล่างทำเป็นลานโล่งไว้สามารถปรับเปลี่ยนใช้งานได้หลากหลาย เพราะงานวิจัยข้าวไม่ได้ทำเฉพาะในห้อง แต่ต้องออกมาที่หน้างาน พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับชาวบ้านด้วย จึงออกแบบพื้นที่ไว้อย่างหลวมๆ เพื่อรองรับการใช้งานหลายรูปแบบ เช่น เป็นลานตากข้าว เป็นจุดนัดพบระหว่างนักวิจัย และชาวนา

ออกแบบอาคารอย่างถ่อมตนเพื่อคนทุกกลุ่ม

“การออกแบบอาคารที่ผู้ใช้งานเป็นคนหลากหลายกลุ่ม ต้องนึกภาพเวลาคนกลุ่มต่างๆ มาใช้งาน เช่น อาคารราชการสมัยก่อนมักจะใหญ่โต บันไดทางขึ้นกว้างใหญ่ และสูงชัน ซึ่งส่วนใหญ่คนที่มาติดต่อเป็นชาวบ้านที่ไม่ได้ใช้งานอาคารแบบนี้ในชีวิตประจำวัน ในแง่จิตวิทยาอาจทำให้รู้สึกว่าอาคารดูใหญ่กว่าตัวเอง รู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งกับที่แห่งนั้น จนอาจพาให้ไม่อยากมาใช้งาน” – คุณณวิทย์ อ่องแสวงชัย สถาปนิกผู้ออกแบบศูนย์ข้าวล้านนา จาก Hanabitate Architect กล่าว

ในศูนย์แห่งนี้เป็นมากกว่าอาคารราชการที่คนมาติดต่องานเอกสารเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำงานคู่ไปกับชาวบ้านในระยะยาว เกษตกรจากบนดอยในพื้นที่ห่างไกลต้องเข้ามา นำพันธุ์ข้าวมาให้ แลกเปลี่ยนความรู้กับนักวิจัยอยู่ตลอดเวลา เรียกได้ว่าทำงานร่วมกัน ซึ่งคนจากบนดอยส่วนหนึ่งจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมือง เช่น ชาวปกาเกอะญอ เป็นต้น หากผู้ใช้งานไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในการมาใช้งานที่นี่ ก็อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ดำเนินงานไม่ได้ หรือทำงานได้ไม่ราบรื่น 

สถาปนิกจึงจับจุดนี้มาพลิกวิธีคิดในการออกแบบใหม่ ให้ไม่มากเกินพอดี ตัวตึกไม่ออกมาใหญ่โตข่มผู้ใช้งาน แต่ยังทันสมัยตอบโจทย์มุมมองผู้บริหาร นักวิจัยรวมถึงคนทำงานในออฟฟิศด้วย จึงเลือกวางฟังก์ชันตามการใช้งานจริงทั้งหมด จนออกมาเป็นอาคารขนาดย่อมริมทุ่งนาที่ดูแตกต่างจากอาคารทางราชการอื่นที่คนคุ้นชิน

เป็นเหมือนไอเดียของอาคารสาธารณะที่ทำความเข้าใจ มองเห็นไปถึงผู้ใช้จริงว่าเป็นใครบ้าง สำรวจพฤติกรรมการใช้งานจริงๆ ว่าเป็นแบบไหน และโอบรับทุกคนเข้าเป็นส่วนหนึ่งโดยไม่ทิ้งใครเอาไว้ เพื่อให้อาคารถูกใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตามที่ตั้งใจไว้ อาจเป็นจุดเริ่มต้น หรือเป็นการ Kick-Off รูปแบบอาคารราชการที่มีคาแร็คเตอร์เข้าถึงได้จากผู้ใช้งานจริงต่อไปในอนาคตก็เป็นได้

มากกว่าวิวแต่คือลมและแสงธรรมชาติ

สถาปนิกเลือกวางแนวห้องทำงานให้ขนานไปกับวิวดอยสุเทพ เปิดโล่งเห็นทุ่งนาเต็มที่ ให้ลม และแสงธรรมชาติเข้ามามีส่วนร่วมกับอาคาร ไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์ในเวลากลางวันเพราะอาคารถูกออกแบบเปิดโล่งให้ลมไหลเวียนตลอดทั้งวัน

“พอช่วงหัวค่ำ บรรยากาศรอบข้างเริ่มมืดลง เวลามองเข้ามาภายในห้องชั้นบนที่เปิดไฟสะท้อนเข้าที่ตู้เก็บของไม้ที่ผนัง ก็จะให้ภาพที่เหมือนกับสีของรวงข้าวสีทองในเวลาใกล้เก็บเกี่ยว” สถาปนิกเล่าถึงความพอดีของวัสดุผนังไม้ที่ใช้ เมื่อถูกแสงไฟสีส้มสาดส่องในเวลาพลบค่ำ หากมองเข้ามาจากที่ไกลๆ บริเวณริมทุ่งนา จะเห็นภาพเป็นเหมือนสีทองของรวงข้าวอยู่ภายในชั้นสองของอาคาร ซึ่งสอดคล้องไปกับเรื่องราวของข้าวที่เป็นฉากหลังของศูนย์แห่งนี้

วัสดุท้องถิ่นลดภาระดูแลรักษา

วัสดุที่ใช้สามารถหาได้ตามร้านวัสดุก่อสร้างในท้องถิ่น เป็นวัสดุมาตรฐานงานก่อสร้างที่พบได้ทั่วประเทศ อย่างหลังคาลอนซีเมนต์ ไม้อัด ผนังอิฐบล็อกที่คงทน แข็งแรง ดูแลรักษาง่ายเพียงแค่ฉีดน้ำก็ล้างคราบออกได้ ไม่สร้างภาระเพิ่มให้ผู้ใช้อาคาร และยังดูดีอยู่แม้จะเวลาจะผ่านไป

อิฐบล็อกจากวัสดุเปลือกข้าว

หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ศูนย์แห่งนี้กำลังคิดค้นอยู่ คือ อิฐบล็อกจากเปลือกข้าวเหลือใช้ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา สถาปนิกมองเห็นความเชื่อมโยงจึงนำอิฐบล็อกเปลือกข้าวสายพันธุ์ต่างๆ มาก่อโชว์ในบางจุดของอาคารให้เห็นสีที่ต่างกันของพันธุ์ข้าว เป็นเหมือนโชว์รูมงานชิ้นนี้ไปในตัว

Design Tips
ชั้นล่างออกแบบเปิดโล่ง สามารถนำรถมาจอดได้ แต่สถาปนิกออกแบบประตูบานเฟี้ยมกระจกใสไว้สำหรับปิดเมื่อต้องการเปลี่ยนใช้ห้องเพื่อทำกิจกรรมอย่างอื่น เป็นห้องประชุม หรือห้องอเนกประสงค์ สามารถปรับเปลี่ยนใช้งานได้หลากหลายกิจกรรม 

ข้อมูล

ออกแบบ: Hanabitate Architect
Lead Architect: ณวิทย์ อ่องแสวงชัย
ภาพ: Kanthamanee
เรื่อง: Natthawat Klaysuban