ความทรงจำ : The Memory Cafe คาเฟ่อุบล ที่ตั้งใจให้งานสถาปัตยกรรมเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำ พร้อมกับวิวพานอรามาของโขงเจียม
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: SA-ARD architecture & construction
คาเเฟ่อุบล แห่งนี้ มีจุดตั้งต้นมาจากแนวคิดการรีแบรนด์ดิ้ง Memory Café จากร้านกาแฟที่ผู้คนมาเพียงซื้อกาแฟ แล้วออกไปเสพวิวแลนด์สเคปที่รังสรรค์โดยธรรมชาติ ให้ร้านกลายเป็นส่วนหนึ่งของบริบทริมแม่น้ำโขงอย่างกลมกลืน และเป็นจุดหมายใหม่ของการมาเยือนอุบลฯ ออกแบบโดยสถาปนิกจาก SA-ARD architecture & construction
ด้วยทำเลและบริบทที่มีศักยภาพสูง อย่างพื้นที่หน้ากว้างของร้านที่เปิดรับวิวพานอรามาริมโขงสวยตราตรึงใจ ประกอบกับทางเจ้าของคาเฟ่ชื่นชอบการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม ทุกองค์ประกอบจึงถูกจัดวางอย่างมีที่มา นำมาต่อยอดเป็นแนวความคิดในการออกแบบตัวอาคารใหค่อย ๆ สร้างประสบการณ์การเข้าถึงให้กับลูกค้า หากมองจากหน้าร้านภายนอกจะเห็นฟาซาดแนวเฉียง ระหว่างช่องว่างกรุด้วยแผ่นพอลิคาร์บอเนตสีขาวขุ่น
จงใจไม่เปิดวิวในคราวเดียว เพราะตั้งใจจะเก็บวิวไว้เป็นเซอร์ไพรส์ในสเปซซีนสุดท้าย มีประตูทางเข้าถูกวางตำแหน่งอยู่ตรงกลางของผนัง ทำหน้าที่เสมือนเป็นวิวไฟน์เดอร์ของกล้อง และหากมองตรงไปจะพบกับเคาน์เตอร์ขนาดใหญ่ และวิวของโขงเจียมที่อยู่ด้านหลัง ประหนึ่งเหมือนเรากำลังกดชัตเตอร์ แล้วจะได้ภาพวิวพานอรามา โดยมีสถาปัตยกรรมเป็นกรอบของภาพ
เส้นสายจากฟาดซาดเส้นเฉียงได้ถูกดึงต่อมาเป็นฝ้าภายในคาเฟ่ โดยความเฉียงที่เกิดขึ้นนี้ จะเป็นองศาที่เกิดจาก Mirror เช่นเดียวกับหลักการการสะท้อน เวลาถ่ายรูปจากกล้อง เพื่อให้เส้นสายทั้งภายในและภายนอกเกิดความเชื่อมต่อ อีกทั้งยังออกแบบให้ระดับของฝ้ามีความสูงลดหลั่นกัน จากระดับพื้นถึงฝ้าราว 2.80 เมตร และจากบริเวณประตูทางเข้าไปจนถึงเคาน์เตอร์บาร์ห่างกัน 4 เมตร เพื่อสร้างมิติในการรับรู้ รวมถึงสร้างจุดรวมสายตาให้ตรึงอยู่ที่เครื่องชงกาแฟ และวิวกลางร้านนั่นเอง
ภายในคาเฟ่มีความสูงจากพื้นถึงฝ้าอยู่ที่ 4 เมตร ส่วนภายนอกอาคารมีความสูง 6 เมตร ซึ่งเป็นระดับความสูงที่สถาปนิกพิจารณาแล้วว่า เป็นระดับที่ตัวคาเฟ่จะไม่ถูกบริบทกลืนหายไป แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่โดดเด่นจนแย่งความสวยงามของธรรมชาติ ซึ่งส่วนต่างของความสูงที่เกิดระหว่างภายนอกกับภายใน เป็นพื้นที่สำหรับวางงานระบบไฟฟ้าทั้งหมด ส่วนของงานระบบน้ำจะถูกเก็บไว้ที่ใต้อาคาร
ด้านการเลือกใช้วัสดุทั้งเจ้าของและสถาปนิกคิดเห็นตรงกันในการเลือกใช้สัจวัสดุเป็นหลัก เพื่อถ่ายทอดความเรียบง่าย และความตรงไปตรงมาของการออกแบบ โครงสร้างจึงเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก โครงสร้างหลังคาเป็นเหล็ก ผนังด้านนอกเป็นการก่ออิฐฉาบปูน ตัวฟาซาดเส้นเฉียงด้านในเป็นโครงสร้างเหล็กกรุสมาร์ทบอร์ด และฉาบสกิมโค้ดทำให้เหมือนคอนกรีตเปลือยมากที่สุด
และอีกจุดที่พิเศษ คือ ผนังด้านในคาเฟ่ที่เห็นเป็นเส้นเซาะร่อง ทางสถาปนิกใช้วิธีการหล่อในที่ โดยใช้แม่แบบเป็นแปสำเร็จรูปแบ่งความสูงเป็น 2 ช่วง ช่วงละ 2 เมตร และใช้เหล็กคาดเพื่อแก้ข้อจำกัด ในกรณีที่เส้นเซาะร่องไม่ต่อเนื่องกัน นอกจากนี้หากมองภาพรวม การมีเส้นแนวตั้งภายในคาเฟ่จะช่วยทอนระยะความยาวของคาเฟ่ให้สมส่วนยิ่งขึ้น
สถาปนิกตั้งใจออกแบบให้เส้นแนวนอนของทั้งร้านเท่ากันทั้งหมด หากมองรูปด้านความสูงของเคาน์เตอร์ และเฟอร์นิเจอร์จะอยู่ในระนาบเดียวกันพอดี หรือที่ความสูง 90 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระดับความสูงที่พิจารณาแล้วว่า เป็นระยะที่คนไม่ต้องก้ม หรือค้อมตัวลงมาชงกาแฟ ส่วนอีกหนึ่งไฮไลต์อย่าง เคาน์เตอร์บาร์ ตั้งใจออกแบบให้เรียบที่สุด ท็อปกรุเหล็กดิบ โค้ดดิ้งกันสนิม แล้วเคลือบด้วยแล็กเกอร์ ฐานเคาน์เตอร์กรุแผ่นกระเบื้องหินเทียมทำขึ้นจากดิน ซึ่งมีคุณสมบัติสามารถงอและตัดได้ด้วยคัตเตอร์ โดยนำมากรุจากตรงกลางเคาน์เตอร์ออกไปยังซ้ายและขวา ให้รอยต่อของกระเบื้องตรงกับรอยต่อของกระจกเทมเปอร์หนา 15 มิลลิเมตร สูง 3 เมตร ที่อยู่ด้านหลังเคาน์เตอร์ เพื่อให้ทั้งเส้นแนวตั้งและแนวนอนจากทุกองค์ประกอบทับซ้อนและกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน
นอกจากภาพวิวที่เห็นจากภายในร้านแล้ว สถาปนิกยังได้ออกแบบที่นั่งแบบแอมฟิเธียเตอร์ ผสานขั้นบันไดกับที่นั่งดื่มกาแฟไว้ในพื้นที่เดียวกันด้านหลังร้าน เพื่อให้ลูกค้าออกมาชมวิวได้อย่างเต็มสายตา โดยระดับที่ลดหลั่นกันนั้นก็เพื่อให้ผู้ใช้พื้นที่ด้านนอกไม่ไปบดบังวิวของลูกค้าภายในร้าน โดยมีการแทรกกระบะต้นไม้ไว้ 2 ตำแหน่ง เพื่อดึงพื้นที่สีเขียวเข้ามาในร้าน รวมถึงยังสร้างพื้นที่ยื่นออกไปให้ลูกค้าออกไปถ่ายรูปแล้วรู้สึกเสมือนกำลังลอยอยู่ท่ามกลางวิวริมแม่น้ำโขง
ที่ตั้ง
100 หมู่ 3 บ้านกุ่ม ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัด https://goo.gl/maps/e5qD6USRVBABRiW97
เปิดทุกวันเวลา 7.30-17.30 น.
โทร. 08-7249-3173
https://www.facebook.com/karmsongjumcafe
เจ้าของ : คุณรนกฤต บุญทน
ออกแบบสถาปัตยกรรมและก่อสร้าง : SA-ARD architecture & construction
เรื่อง : ektida n.
ภาพ : Usssajaeree Studio