ปรับโฉม ร้านอาหารอยุธยา แพเทวราช ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สู่ Tarn Ayutthaya สถาปัตยกรรมลอยน้ำ บรรยากาศใหม่น่าจดจำ สร้างแรงดึงดูดให้มีมูลค่ามากกว่าแค่รสชาติอาหารระดับตำนาน
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: BodinChapa Architects
หลังจากที่ ร้านอาหารอยุธยา แพเทวราช เปิดกิจการมายาวนานตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ เมื่อเปลี่ยนผ่านสู่รุ่นลูก ความต้องการและกลุ่มลูกค้าเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยร้านอาหารแพเทวราชจึงถึงคราวต้องปรับตัว นำมาสู่การรีแบรนดิ้งครั้งใหญ่ เปลี่ยนชื่อเป็น “ธาร” หรือ Tarn Ayutthaya ซึ่งมีที่มาจากคอนเซ็ปต์ดีไซน์ที่เล่าเรื่องราวความผูกพันกับสายน้ำของชาวอยุธยา ออกแบบโดย BodinChapa Architects



แพอาหารนิวลุคเข้ากับยุคสมัย
เปลี่ยนบรรยากาศแพอาหารเก่าให้มีดีไซน์เรียบหรูแต่ยังเข้าถึงง่าย หลังจากที่ BodinChapa Architects เคยฝากผลงานกับ Tewa Café คาเฟ่บนพื้นที่ด้านหน้าของอาณาจักรแพเทวราชเมื่อหลายปีก่อน จนฮิตในหมู่คาเฟ่ฮอปเปอร์และนักท่องเที่ยว มาวันนี้ถึงคราวที่แพอาหารจะต้องถึงคราวปรับโฉมบ้าง
ด้วยข้อดีของทำเลที่อยู่ริมแม่น้ำ มีมุมมองที่สวยงามอย่าง “สะพานปรีดี-ธำรง” ซึ่งเป็นสะพานหลักนำคนอยุธยากลับสู่เกาะเมืองอยุธยา แต่เดิมมุมมองนี้เคยถูกกั้นด้วย Back of Hose ของร้านอาหาร ทางเจ้าของและนักออกแบบต่างเห็นพ้องกันว่า ต้องย้ายส่วนของ Back of Hose ออกไป เพื่อใช้ประโยชน์ด้านทำเลให้คุ้มค่า
ขณะที่แพอาหารเก่าก็ยังคงอนุรักษ์รูปแบบดั้งเดิมไว้ รวมถึงโครงสร้างที่แข็งแรง ส่วนพื้นที่รองรับลูกค้าบนฝั่งได้รื้อออกหมดเพื่อรีดีไซน์ใหม่ เกิดเป็นอาคารของโรงแรมจำนวน 5 ห้อง ด้านบน และมีส่วนบริการร้านอาหารอยู่ด้านล่าง ซึ่งใช้เป็นพื้นที่รับประทานอาหารเช้าของโรงแรมด้วย เมื่อโรงแรมแล้วเสร็จ ที่นี่จะครบถ้วนทั้งคาเฟ่ โรงแรม และร้านอาหาร เล่าเรื่องราวธุรกิจทั้งหมดของครอบครัวได้อย่างครบถ้วน




เล่าวิถีผูกพันกับสายน้ำผ่านวัสดุและเส้นสาย
คอนเซ็ปต์หลัก คือการเล่าความผูกพันของผู้คนกับ “สายน้ำ” สะท้อนทั้งการตั้งชื่อใหม่ว่า “ธาร” จากคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวกับน้ำนี้ ยังนำมาสู่การตีความเป็นเส้นโค้ง เพื่อแบ่งสเปซการใช้งาน และสร้างความเชื่อมโยงกับงานดีไซน์ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ Tewa Café ซึ่งไม่ลืมนำเรื่องราวของปลาตะเพียนสานเข้ามาเสริม
ดีไซน์เดิมของแพ มีหลังคาทรงจั่วแบบพิมพ์นิยม แต่ครั้งนี้ลดทอนให้ดูเนี้ยบเรียบง่าย เปลี่ยนวัสดุมุงหลังคามาใช้แผ่น Shingle Roof ไม่ได้เปลี่ยนดีไซน์เป็นโมเดิร์นร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อยู่กึ่งกลางระหว่างเก่ากับใหม่ โครงอาคารใช้วัสดุเดิมให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างหลังคา โครงสร้างเสา รวมถึงโครงพื้น หรือทุ่นลอยเดิม เสริมด้วยโครงสร้างไม้จริงซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งที่ทนทานกับความชื้นทดแทนไม้เก่าที่ชำรุดบางส่วน
ผสมผสานการใช้วัสดุหวายเทียม เพื่อทำให้นักถึงปลาตะเพียนสาน งานหวายถูกนำมาออกแบบเป็นอาร์คโค้งใช้นำสายตาและเพิ่มความสำคัญเฉพาะโซน เช่น อาร์คทางเข้า ปีกซ้ายของแพที่กำหนดมุมมองไปทางสะพานปรีดี-ธำรง และปีกฝั่งขวาซึ่งเป็นพื้นที่อ่างล้างมือ นอกจากนั้นยังใช้ประดับเหนือโต๊ะรับประทานอาหารกลางแพเพื่อนำสายตา กรุฝ้าเพดานตามรูปทรงหลังคาทรงจั่วด้วยภาษาดีไซน์ที่คล้ายกับฝ้าของ Tewa Café ที่ยกสูงขึ้น ก่อนสโลบลงมาเป็นเส้นโค้งดูละมุนตา ตัวแทนของคลื่นน้ำพลิ้วไหว



ออกแบบสอดคล้องกับบริบทอยุธยา
เพื่อให้อยู่ร่วมกับสายน้ำได้โดยไม่กระทบกับการเปิดบริการ ทีมออกแบบต้องคำนึงถึงสถิติน้ำขึ้นสูงสุดเพื่อให้อาคารพ้นจากน้ำท่วม ตัวอาคารใหม่บนฝั่งจึงดีไซน์ให้ยกสูงขึ้นจากระดับเดิม เพื่อให้มั่นใจว่าน้ำจะไม่ท่วม แล้วคิดวิธีขึ้นลงแพด้วยการทำแลมป์ทางเดินแบบซิกแซก โดยเปลี่ยนจากทางเดินที่ต้องคอยยก หรือปรับระดับเพื่อเชื่อมต่อด้วยลางไม้ขึ้นลงแพ และทำแลมป์ที่คิดขึ้นใหม่ ที่สามารถอยู่กับระดับน้ำขึ้นน้ำลงได้ เมื่อน้ำขึ้นตัวแลมป์จะมีทุ่นค่อย ๆ ลอยขึ้นตามระดับการขึ้นลงของน้ำ ง่ายต่อการเข้าสู่พื้นที่แพอาหาร




ประสบการณ์การใช้งานพื้นที่
จากทางเข้าสู่โซนพื้นที่โรงแรมและร้านอาหาร การเข้าถึงถูกคิดให้แยกสเปซกันระหว่างแขกของทั้งสองพื้นที่ ลูกค้าร้านอาหารจะต้องเดินออกไปทางขวา ส่วนพื้นที่ต้อนรับของโรงแรมจะเป็นอาคารสีดำกรุผนังจากไม้สนเผาผิว จากทางเดินจะบังคับให้แขกต้องเลี้ยวไปทางซ้าย ก่อนจะแยกไปยังโซนที่เป็นวงกลม การวางแผนการเข้าถึงพื้นที่ทั้งสองโซนจะช่วยให้ลูกค้าของโรงแรมรู้สึกว่ากำลังเข้าสู่พื้นที่ที่พิเศษและเป็นส่วนตัว
เมื่อเข้ามาในส่วนใต้อาคารโรงแรม จะมีทั้งพื้นที่เอาดอร์สเปซ และพื้นที่อินทีเรียร์สเปซ โซนอินทีเรียร์สเปซจะมีบาร์น้ำอยู่ในโซนนี้ด้วย และมีห้องไพรเวตรูมรองรับลูกค้าได้ 24 ที่นั่ง โดยสีของห้องเป็นโทนเทาเข้มไปจนถึงดำ ข้าง ๆ ห้องไพรเวตแบ่งพื้นที่เป็นครัวหลักและห้องน้ำ
พื้นที่ของแพอาหาร รองรับลูกค้าสูงสุดได้ราว 80 ที่นั่ง จำนวนที่นั่งมีสัดส่วนที่ไม่แน่นเกินไป ด้วยการแบ่งส่วนของที่นั่งออกเป็นด้านข้างชิดริมน้ำทั้งหมด ส่วนตรงกลางจะเจอกับพื้นยกระดับ แล้วทำที่นั่งให้เหมือนเด่นขึ้นมา ลอยจากพื้นเล็กน้อย เพื่อยกระดับสายตาให้คนที่นั่งอยู่ตรงกลางแพยังสามารถชื่นชมวิวแม่น้ำได้ง่าย
ไม่ว่าจะมาในช่วงกลางวัน หรือกลางคืน ภาพของร้านอาหารริมน้ำนี้สามารถตรึงสายตาผู้คน เคล้าไปกับภาพบริบทและวิถีผู้คนที่สัญจรทางน้ำ ตอนเย็นคื่มด่ำกับวิวพระอาทิตย์ตกดิน และวิวสะพานปรีดี – ธำรง ที่ตกแต่งอย่างสวยงาม ยามค่ำแสงไฟจะขับให้แพดูเปล่งประกายเรืองรอง ตอบโจทย์การให้บริการทั้งเวลากลางวันและกลางคืน





การรีแบรนดิ้งของแพเทวราชครั้งนี้ ใช้วิธีการรีแบรนดิ้งให้ทุกอย่างไปด้วยกัน ในหนึ่งพื้นที่สามารถพัฒนาให้มีมากกว่า 1 ธุรกิจ นับเป็นการปรับตัวของร้านอาหารให้ทันกับยุคสมัย และความต้องการของผู้คน จากที่เคยมีฐานกลุ่มลูกค้าประจำ สู่การหันมาตอบรับกับสิ่งที่คนรุ่นใหม่ตามหา ทั้งอาหารที่อร่อย งานดีไซน์ที่ดูดี เคล้ากับวิวสะกดสายตา ก็ทำให้ร้านอาหารระดับตำนานยังคงประกาศตัวตนต่อยอดได้ในยุคปัจจุบัน
ที่ตั้ง
74 หมู่ 10 ซอยกะมัง ตำบลหอรัตนไชย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พิกัด https://maps.app.goo.gl/R9c9pyo89g4iuzSu6
เปิดทุกวัน 10.00 – 22.00 น.
โทร. 08-9819-2910
ออกแบบ: BodinChapa Architects
เจ้าของ – ก่อสร้าง: Seksan Thaisom
เรื่อง: Phattaraphon
ภาพ: Rungkit Charoenwat
TEWA CAFE คาเฟ่เปิดใหม่ริมแม่น้ำป่าสัก เล่าวิถีผูกพันกับสายน้ำที่อยุธยา
